แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคแรก ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ที่ว่า ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เป็นองค์ประกอบความผิด เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญเพียงว่าจำเลยได้บังอาจกระทำความผิด โดยออกเช็คสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีคำบรรยายฟ้องตอนใดเลยที่มีข้อความพอที่จะให้ฟังได้ว่าการที่จำเลยออกเช็คนั้นก็เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2535 เวลากลางวันจำเลยได้ออกเช็คลงวันที่ 24 มีนาคม 2535 จำนวนเงิน 197,775 บาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อให้เรียกเก็บเงินแต่เรียกเก็บไม่ได้เนื่องจากธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เหตุเกิดที่แขวงสี่พระยาเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงให้จำคุกจำเลย 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) หรือไม่ เห็นว่าความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องเกิดขึ้นจากการที่ผู้ออกเช็คออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งใน 5 กรณี ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ตั้งแต่อนุมาตรา (1) ถึง (5) ข้อความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคแรก ที่ว่า ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายจึงเป็นองค์ประกอบความผิดอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยได้บังอาจกระทำความผิดโดยออกเช็คสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเข้าบัญชีแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่ายและมีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4ตั้งแต่อนุมาตรา (1) ถึง (5) ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่มีคำบรรยายฟ้องตอนใดเลยที่มีข้อความพอที่จะให้ฟังได้ว่าการที่จำเลยออกเช็คนั้นก็เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน