แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างรั้วพิพาท จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 172539 พร้อมบ้านเลขที่ 123/79 และรั้วพิพาทจากจำเลยที่ 2 ไว้แล้ว และขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 86786 จากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 86786 อยู่ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างรั้วพิพาทลงในที่ดินที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขาย แม้จะรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 86786 ก็เป็นการโต้แย้งกันระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะว่ากล่าวแก่กัน การสร้างรั้วพิพาทของจำเลยที่ 1หาได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กระทำละเมิดหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์
โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ ว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิฟ้องเรียกร้องบังคับให้จำเลยที่ 1 รื้อรั้วพิพาทหรือใช้ราคาที่ดินได้ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการที่จำเลยที่ 1 สร้างรั้วพิพาทรุกล้ำที่ดินของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ได้รับโอนมา จำเลยที่ 1 ได้กระทำโดยผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายอันเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 2 หรือเป็นการโต้แย้งสิทธิจำเลยที่ 2 อันจะก่อให้เกิดสิทธิฟ้องร้อง แต่เป็นเรื่องที่โจทก์คาดการณ์ขึ้นเอง โจทก์จึงอ้างสิทธิการรับโอนสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 2 มาเป็นเหตุฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดฐานละเมิดหาได้ไม่
การที่จำเลยที่ 1 สร้างรั้วพิพาทรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยที่ 2 โดยมิได้กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในขณะที่จำเลยที่ 1 สร้างรั้วพิพาทรุกล้ำเข้ามา จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจจะเป็นผู้กระทำละเมิดเกี่ยวกับการสร้างรั้วพิพาทรุกล้ำดังกล่าวต่อผู้อื่นใดรวมทั้งโจทก์ได้ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 รับโอนรั้วพิพาทจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดใด ๆ ที่รับโอนมาเพื่อรับผิดต่อโจทก์
ป.วิ.พ. มาตรา 240 บัญญัติให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีโดยเพียงแต่พิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ เอกสารและหลักฐานทั้งปวงในสำนวนความซึ่งศาลชั้นต้นส่งขึ้นมาเป็นสำคัญก่อน แล้วจึงพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนจึงจะวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินได้ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่าจำเลยที่ 2 กับโจทก์ทำสัญญาซื้อขายยกแปลงหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 กับโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ระบุไว้ในสัญญา ไม่ใช่เป็นการขายยกแปลงโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างมิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่86786 กับโจทก์ตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ระบุไว้ในสัญญา การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 กับโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดพิพาทเป็นการขายยกแปลงกัน จึงเป็นการวินิจฉัยไม่ตรงประเด็น ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 240 และเมื่อตามสัญญาซื้อขายระบุว่าซื้อขายที่ดินโฉนดพิพาทซึ่งระบุเนื้อที่ไว้จำนวน 15 ตารางวา แต่ปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวถูกรั้วพิพาทรุกล้ำเข้าไปถึง 6 ตารางวา เกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนเนื้อที่ที่ตกลงซื้อขายกัน จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในส่วนที่ส่งมอบที่ดินขาดตกบกพร่องนั้นต่อโจทก์ ตามราคาที่ดินที่ซื้อขายกันตามเนื้อที่ที่ส่งมอบขาดไปเท่านั้นแต่เมื่อโจทก์ยังมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จำเลยที่ 2 ส่งมอบขาดไปดังกล่าวโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าที่ดินตามราคาที่โจทก์กำหนดในส่วนที่มิได้เป็นของโจทก์ได้