แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พนักงานอัยการเคยเป็นโจทก์ฟ้องอาญาต่อจำเลยในมูลคดีเดียวกับคดีนี้กล่าวหาว่าจำเลยลักกระแสไฟฟ้าของโจทก์และขอให้จำเลยชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่ลักไปคืนแก่โจทก์ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในฐานะจำเลยที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้กระแสไฟฟ้าให้รับผิดชำระค่ากระแสไฟฟ้าและค่าเสียหายตามสัญญาซึ่งจำเลยทำไว้กับโจทก์ ดังนี้แม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายจะมิได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวก็ถือว่าพนักงานอัยการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนแพ่งแทนโจทก์สำหรับสภาพแห่งความรับผิดอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยแล้ว แต่ความรับผิดซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นความรับผิดตามลักษณะของสัญญาเป็นคนละเหตุกับที่พนักงานอัยการฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ราคาในคดีอาญา ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องของพนักงานอัยการในคดีก่อน เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยแก้ไขเครื่องวัดการใช้กระแสไฟฟ้าอันจำเลยจะต้องชดใช้ค่าปรับตามสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าปรับตามสัญญาได้และปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับอนุญาตใช้กระแสไฟฟ้าเป็นเครื่องขนาด 50 แอมแปร์ 220 โวลต์ 1 ยก 2 สาย จากโจทก์และโจทก์ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้า เลขที่ ต/130-16315จำเลยตกลงว่าจะชำระค่าธรรมเนียมในการใช้ไฟฟ้าตามอัตราค่าไฟฟ้าที่โจทก์กำหนด ค่าเสียหายหรือค่าปรับ ค่าไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลังในกรณีมีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เครื่องวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าเสียหายหรือแสดงค่าคลาดเคลื่อนลดน้อยลงจากความเป็นจริง ต่อมาโจทก์ตรวจพบว่าเครื่องวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่อนุญาตให้จำเลยใช้ไฟฟ้าดังกล่าวถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยเปลี่ยนเฟืองจักรของชุดเลขอ่านปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากอัตราเดิม 14ต่อ 70 เป็น 12 ต่อ 120 ทำให้เครื่องวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อนอ่านปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่จำเลยใช้ไฟลดน้อยกว่าความเป็นจริง โจทก์นำเครื่องวัดมาตราฐานขนาดเดียวกับที่จำเลยรับอนุญาตจากโจทก์ตั้งเปรียบเทียบ และจากสถิติการใช้ปริมาณไฟฟ้าของจำเลยพบว่าจำนวนหน่วยปริมาณไฟฟ้าระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม 2523 ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2531 ที่จำเลยใช้ต้องมี 102,210 หน่วย คิดเป็นเงินค่าไฟฟ้า 93,066.68 บาทที่จำเลยชำระแก่โจทก์ในแต่ละเดือน จำเลยจึงค้างชำระค่าไฟฟ้าซึ่งจะต้องชำระแก่โจทก์อีก 114,520.22 บาท และเงินค่าปรับที่แก้ไขเครื่องวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าอีก 2,000 บาทรวมเป็นเงิน 116,520.22 บาท ขอบังคับให้จำเลยชำระเงิน153,660.96 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยของต้นเงิน 116,520.22 บาท
จำเลยให้การว่า ในมูลคดีเดียวกัน พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาลักทรัพย์ได้แก่กระแสไฟฟ้าต่อศาลอาญาและพนักงานอัยการเรียกให้จำเลยใช้ราคาเป็นเงิน 114,520.22 บาทศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวจึงเป็นฟ้องซ้ำ ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเฟืองจักรเครื่องวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าเลขที่ ต/130-16315 เป็นการกระทำของจำเลยทำให้จำเลยไม่เข้าใจว่ามีหลักฐานใดที่จำเลยต้องรับผิดไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม ทั้งจำเลยไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเฟืองจักรสำหรับอ่านเลขในเครื่องวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามที่โจทก์ฟ้อง และจำเลยไม่ได้กระทำผิดสัญญาเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่มีประเด็นยุ่งยาก และไม่จำต้องสอบถามคู่ความงดชี้สองสถาน ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน ให้งดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 116,520.22 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาของจำเลยมีปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำให้การของจำเลยว่า ในมูลแห่งคดีเดียวกันพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวหาว่าจำเลยลักทรัพย์กระแสไฟฟ้าคิดเป็นเงินจำนวน 114,520.22 บาท และขอให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์สำหรับเงินจำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มาฟ้องคดีนี้เห็นว่า ในคดีอาญาดังกล่าวพนักงานอัยการเป็นโจทก์ แต่โจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา แม้ไม่ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการก็ตามก็ถือว่าพนักงานอัยการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนแพ่งแทนโจทก์แต่สภาพแห่งความรับผิดมีมูลจากการกระทำความผิดอันเป็นละเมิดโดยคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องวัดการใช้กระแสไฟฟ้าเลขที่ ต/130-16315 ซึ่งเป็นเครื่องวัดเฉพาะและมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเฟืองจักรทำให้อัตราส่วนเปลี่ยนแปลงจากเดิม14 ต่อ 70 เป็น 12 ต่อ 120 นับระยะเวลาตั้งแต่แก้ไขเปลี่ยนแปลงถึงวันพบเห็น โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบสถิติการใช้กระแสไฟฟ้าก่อนการแก้ไขกับการกระแสไฟฟ้าหลังการแก้ไขคำนวณเป็นเงินจำนวน 114,520.22 บาท แม้ในคดีอาญาก่อนจะพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้แก้ไขหรือมีส่วนร่วม เป็นเหตุให้ศาลพิพากษายกฟ้องก็ตามแต่ผู้รับประโยชน์ก็คือจำเลย และจำเลยตกลงว่าจำเลยจะชำระค่ากระแสไฟฟ้าหรือค่าเสียหายเพิ่มย้อนหลังในกรณีที่มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เครื่องวัดปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าคลาดเคลื่อนน้อยลง ความรับผิดชำระค่าเสียหายเพิ่มย้อนหลังอยู่ที่การแก้ไขเครื่องวัดปริมาณการใช้ซึ่งเป็นความรับผิดตามลักษณะของสัญญาซึ่งโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาเป็นคดีหลังนี้ซึ่งเป็นคนละเหตุกับที่พนักงานอัยการขอให้ใช้ราคาซึ่งไม่ใช่เหตุเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3137/2525 ที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกามีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จำเลยไม่ปฏิเสธว่าไม่มีการแก้ไข ระยะเวลาการใช้หลังการแก้ไขไม่ถูกต้องและผลต่างจากการเปรียบเทียบไม่ถูกต้องจำเลยจึงต้องรับผิดตามที่โจทก์ได้เปรียบเทียบและฟ้องเรียกเงินค่าใช้กระแสไฟฟ้ามาในคดีนี้ แต่สำหรับค่าปรับการแก้ไขเครื่องวัดการใช้กระแสไฟฟ้าจำนวน 2,000 บาท นั้นเห็นว่า เมื่อยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยแก้ไขเครื่องวัดกระแสไฟฟ้า จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าปรับได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าปรับด้วยจึงไม่ชอบ แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาข้อนี้แต่ก็เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบ มาตรา 246 และมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 114,520.22 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2534 จนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์