คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องที่ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสดเป็นพยานเอกสารที่ใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาได้ เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสดไปจากโจทก์ จึงมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่เป็นความผิด ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติภายหลังจากจำเลยออกเช็คพิพาท จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นพยานเอกสารที่ใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาได้ สำหรับคดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้แต่ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสดจากโจทก์ จึงต้องฟังว่า จำเลยออกเช็คพิพาทในคดีนี้เป็นการออกเพื่อแลกเงินสด เนื่องจากขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4บัญญัติว่า “ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น…เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ” ดังนั้นการออกเช็คที่จะมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องปรากฏในเบื้องแรกว่ามีหนี้ที่จะต้องชำระก่อนแล้วจึงออกเช็คเพื่อชำระหนี้นั้น ซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย ดังนั้นการออกเช็คเพื่อแลกเงินสดของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติภายหลัง ในกรณีเช่นนี้จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share