แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า ‘ผลิตภัณฑ์อาหาร’ ตามบัญชีที่ 1 หมวด 1(4)ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2509 ไม่มีบทนิยามให้มีความหมายโดยเฉพาะ ย่อมค้นหาความหมายได้โดยเปรียบเทียบจากบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือจากบทมาตราอื่นๆ ของประมวลรัษฎากร
คำว่า ‘อาหาร’ ในบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ถ้าใช้เป็นคำกลางๆ หมายถึงอาหารสำหรับคนเท่านั้น หามีความหมายถึงอาหารสัตว์ด้วยไม่ คำว่า ‘ผลิตภัณฑ์อาหาร’ จึงหมายถึง อาหารคนแต่อย่างเดียว ถ้ากฎหมายประสงค์จะให้หมายถึงอาหารอย่างอื่น ก็จำเป็นจะต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเป็นแห่ง ๆ ไปฉะนั้น อาหารสัตว์จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า ‘ผลิตภัณฑ์อาหาร’
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปจำหน่าย ซึ่งต้องเสียภาษีการค้าร้อยละ 1.5 แต่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1กลับแจ้งประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าร้อยละ 5 พร้อมด้วยเงินเพิ่มและภาษีเทศบาล โจทก์อุทธรณ์ จำเลยที่ 2, 3, 4 ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีร้อยละ 5แต่ลดเบี้ยปรับ โจทก์เห็นว่าไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งประเมินเรียกเก็บภาษีและเงินเพิ่มของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2, 3, 4
จำเลยต่อสู้ว่า อาหารสัตว์ที่โจทก์ผลิตจำหน่าย เป็นผลิตผลภายในประเทศทำจากรำ ข้าวโพดป่น ปลาป่น น้ำตาล และวัตถุอื่นผสมกันบรรจุลงในภาชนะหรือหีบห่อผนึก ตีตราชื่อบริษัทผู้ทำการค้ารวมทั้งเครื่องหมายการค้าที่หีบห่อด้วย จึงเข้าลักษณะผลิตภัณฑ์อาหารต้องเสียภาษีการค้าร้อยละ 5 ของรายรับ
ชั้นชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับกันว่า ภาษีการค้าที่เรียกเก็บรายนี้ประเมินจากรายรับในการขายผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวคนใช้บริโภคไม่ได้ ทั้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่บรรจุหีบห่อผนึกสำหรับเพื่อจำหน่าย แล้วต่างไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งประเมินเรียกเก็บภาษีและเงินเพิ่มของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2, 3, 4โดยไม่ต้องให้โจทก์ชำระค่าภาษีการค้าและเงินเพิ่ม 1,062,985.90 บาทให้จำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ปัญหามีว่า คำว่า “ผลิตภัณฑ์อาหาร” มีความหมายเพียงใดโดยเฉพาะอาหารสัตว์จะอยู่ในความหมายของคำว่า “ผลิตภัณฑ์อาหาร”ด้วยหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำว่า “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ไม่มีบทนิยามให้มีความหมายโดยเฉพาะจึงต้องค้นหาความหมายโดยเปรียบเทียบจากบทบัญญัติที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง คือจากบทมาตราอื่น ๆ ของประมวลรัษฎากรนั่นเอง ตามมาตรา 77 มีวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ภัตตาคาร” หมายความว่า”กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใด ๆ ในหรือจากสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้” และคำว่า “ไนท์คลับหรือคาบาเรต์” หมายความว่า “กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใด ๆ ในหรือจากสถานที่ซึ่งจัดให้มีการแสดงดนตรี การลีลาศ หรือการแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ” บทวิเคราะห์ศัพท์เช่นนี้เห็นได้ชัดว่า อาหารนั้นถ้าใช้เป็นคำกลาง ๆ แล้วจะต้องหมายถึงอาหารสำหรับคนเท่านั้น จะให้มีความหมายไปถึงอาหารสำหรับสัตว์ด้วย ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะภัตตาคารก็ดี ไนท์คลับก็ดี ย่อมเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า ไม่ใช่ตั้งขึ้นเพื่อขายอาหารสัตว์ อีกประการหนึ่ง ถ้าดูความในมาตรา 78 ทวิ ที่บัญญัติถึงการประกอบการค้าที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้า เช่น กิจการ ผลิตสินค้า (ข) ถั่วทุกชนิด ไม่ว่ากะเทาะเปลือกหรือทั้งเปลือกบด ทำให้เป็นซีกหรือชิ้น รวมทั้งกากถั่ว แต่ไม่รวมถึงแป้งถั่วหรือถั่วที่ผ่านกรรมวิธีเพื่อทำเป็นอาหาร นอกจากอาหารสัตว์ (ค) ข้าวโพด ไม่ว่าเป็นผักหรือเมล็ด อบ บด ทำให้เป็นซีกหรือชิ้น แต่ไม่รวมถึงแป้งข้าวโพดหรือข้าวโพดที่ผ่านกรรมวิธีเพื่อทำเป็นอาหารนอกจากอาหารสัตว์ เฉพาะคำว่า อาหารคำแรกในทั้งสองวรรคต้องตีความว่าหมายถึงอาหารคน ซึ่งเป็นการผลิตอาหารที่ต้องเสียภาษีการค้า ตรงกันข้ามการผลิตอาหารสัตว์จากถั่วหรือข้าวโพดไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามมาตรา 78 ทวิ เมื่อความหมายของคำว่า “อาหาร”ในประมวลรัษฎากรสามารถแยกแยกออกได้เช่นนี้ คำว่า “ผลิตภัณฑ์อาหาร”ก็ต้องหมายถึงอาหารคนแต่อย่างเดียว ถ้ากฎหมายประสงค์ให้หมายถึงอาหารอย่างอื่น ก็จำเป็นจะต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเป็นแห่ง ๆ ไป เช่นอาหารสัตว์ตามมาตรา 78 ทวิ เป็นต้น อาหารสัตว์จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 21)พ.ศ. 2509 บัญชีที่ 1 หมวด 1 อาหาร ฯลฯ ดังนั้นจำเลยึงไม่มีอำนาจบังคับให้โจทก์เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 5 ของรายรับ เพราะที่โจทก์เสียภาษีไปแล้วในอัตราร้อยละ 1.5 ของรายรับ เป็นการถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน