แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน อ้างว่า จำเลยที่ ๑ ได้ออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๔๗ ให้แก่นาง ถ. ภริยาของโจทก์ ทับที่ดินของนาง ผ. ซึ่งอยู่ข้างเคียง และออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๔๕ ให้แก่นาย ส. บิดาของจำเลยที่ ๒ ทับที่ดินของนาง ถ. อันเป็นการออก น.ส. ๓ ก. ผิดพลาดคลาดเคลื่อนแปลงไม่ตรงตามที่มีการนำชี้ จากนั้นนาย ส. โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๓ เมื่อนาง ถ. ถึงแก่ความตาย โจทก์เข้ารับมรดกที่ดิน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๔๗ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ประกาศเปลี่ยน น.ส. ๓ ก. ของโจทก์ เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๔๘๘๔ และ น.ส. ๓ ก. ของจำเลยที่ ๓ เปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๔๘๘๗ โดยมิได้มีการรังวัดที่ดิน และจำเลยที่ ๓ นำที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๔๘๘๗ ไปจดทะเบียนจำนองกับจำเลยที่ ๔ และบุกรุกเข้าทำประโยชน์รุกล้ำที่ดินส่วนที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์และปิดทางเข้าออกที่ดินแปลงดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาว่าการออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๔๕ เป็นการออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๔๘๘๗ ในส่วนที่ออกทับที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๔๘๘๗ ให้ขับไล่จำเลยที่ ๓ และบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ให้การสรุปได้ว่า จำเลย ที่ ๑ ออก น.ส. ๓ ก. และประกาศเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินโดยถูกต้องและมิได้ออกผิดพลาดคลาดเคลื่อน จำเลยที่ ๓ ให้การและฟ้องแย้งสรุปได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๔๘๘๔ ของโจทก์มิได้ทับซ้อนกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๔๘๘๗ ของจำเลยที่ ๓ การที่จำเลยที่ ๓ นำที่ดินจำนองกับจำเลยที่ ๔ ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องและขับไล่โจทก์และบริวาร จำเลยที่ ๔ ให้การว่า การจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้คดีนี้ โจทก์จะมีคำขอให้เพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๘๔๕ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๔๘๘๗ ซึ่งเปลี่ยนมาจาก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว อันเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง แต่เมื่อพิจารณาลักษณะข้อพิพาทในคดีนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๔๘๘๗ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือจำเลยที่ ๓ ซึ่งไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยที่ ๓ ย่อมกระทบต่อสิทธิในทางทรัพย์สินของเอกชนทั้งสองฝ่าย กรณีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน โดยต่างฝ่ายต่างต้องพิสูจน์การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ เนื้อหาตามคำฟ้องของโจทก์จึงมิใช่การขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครอง แต่เป็นการขอให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของตน กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม