คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 49 บัญญัติเรื่องโทษว่าผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 19 มาตรา 20 ต้องระวางโทษปรับสิบ เท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดหรือที่ยังขาดอยู่แต่ ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาทถ้าเป็นบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิต ในประเทศและมิได้ประกาศกำหนดราคาขายปลีกไว้ต้อง ระวางโทษปรับกรัมละสองบาทแต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาทดังนี้ย่อมเห็นได้ว่าผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติยาสูบฐานนี้จะต้องถูกลงโทษปรับเป็นจำนวนสิบเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด มิได้มีข้อจำกัดว่าถ้ามีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคนให้ปรับรวมกัน ตามค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดทั้ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 ได้บัญญัติให้ใช้บังคับบทบัญญัติ ในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ในกรณีความผิดตามกฎหมายอื่น ด้วยคดีพระราชบัญญัติยาสูบมิได้บัญญัติ ไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวบุคคล ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2528)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันมียาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในต่างประเทศยังมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในความครอบครองมีน้ำหนักเกินกว่าห้าร้อยกรัมโดยมีจำนวนน้ำหนักทั้งสิ้น 42,614 กรัม ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 4, 5, 19, 44, 49 ที่แก้ไขแล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 43 และขอให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้องให้ลงโทษปรับคนละ 213,070 บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงปรับคนละ 106,535 บาท ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 19ได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติยาสูบไว้ในความครอบครองเกินกว่าห้าร้อยกรัม นอกจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ และมาตรา 49 ได้บัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 19 หรือมาตรา 20 ต้องระวางโทษปรับสิบเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดหรือที่ยังขาดอยู่ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท ถ้าเป็นบุหรี่ซิกาแรตที่ผลิตในประเทศและมิได้ประกาศกำหนดราคาขายปลีกไว้ต้องระวางโทษปรับกรัมละสองบาท แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท”ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่าผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติยาสูบฐานนี้จะต้องถูกลงโทษปรับเป็นจำนวนสิบเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิด มิได้มีข้อจำกัดว่า ถ้ามีผู้ร่วมกันกระทำผิดหลายคนให้ปรับรวมกันตามค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 ได้บัญญัติว่า “บทบัญญัติในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ใช้ในกรณีความผิดตามกฎหมายอื่นด้วยเว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” คดีนี้พระราชบัญญัติยาสูบมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งสองเรียงตามรายตัวบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลจะพิพากษาให้ปรับผู้กระทำความผิดหลายคน ในความผิดอันเดียวกัน ในกรณีเดียวกัน ให้ศาลลงโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคล”
พิพากษายืน

Share