แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยแจ้งข้อความต่อ บ. ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ช่วยนายทะเบียนตำบลว่าเด็กหญิง ธ. เป็นบุตรของตนเกิดที่จังหวัดร้อยเอ็ดอันเป็นความเท็จ เพราะเด็กหญิง ธ. เกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยกรอกข้อความดังกล่าวลงในแบบฟอร์มใบรับแจ้งความการเกิดเอง โดย บ. มิได้แนะนำ ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นอาจารย์ใหญ่ย่อมทราบดีว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จจำเลยจึงมีเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91,137, 264, 265, 268 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 3 เดือนแต่ตามพฤติการณ์จำเลยกระทำไปเพื่อให้บุตรของตนมีหลักฐานการเกิดสมควรได้รับความปรานี จึงให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกามาเพียงข้อเดียวว่าจำเลยมิได้มีเจตนากระทำผิด เพราะจำเลยแจ้งไปตามคำแนะนำของนายบุญจันทร์นั้น พิเคราะห์แล้ว นายบุญจันทร์เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้แจ้งการเกิดของเด็กหญิงธิติมาโดยจำเลยกรอกข้อความในแบบฟอร์มใบรับแจ้งการเกิดเองพยานมิได้แนะนำให้จำเลยแจ้งที่เกิดของเด็กหญิงธิติมาให้ผิดไปจากความจริง ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนโคกล่ามพิทยามาประมาณ 4 ปีแล้ว เป็นผู้มีความรู้ดี ย่อมจะทราบดีว่าการที่บุตรของตนเกิดที่จังหวัดหนึ่งแต่ไปแจ้งต่อพนักงานว่าเกิดที่อีกจังหวัดหนึ่งนั้น เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานโดยเจตนาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นการกำหนดโทษที่หนักเกินไป สมควรลงโทษปรับแก่จำเลยเพียงสถานเดียว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยเป็นเงิน 1,000 บาท จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์