คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 264/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องว่าเป็นตัวการร่วมกระทำผิด ได้ความว่าเป็นผู้ใช้ให้คนเอารถแทรกเตอร์ไปขุดดินทำลายสาธารณสมบัติของแผ่นดินลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้ทำผิดไม่ได้ แต่ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา360 ซึ่งเป็นบทหนักกว่าความผิดตาม ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9,108 อันเป็นความผิดกรรมเดียวกัน

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360, 78, 83 จำคุกจำเลยที่ 1, 2 คนละ 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 31 ปี ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำเลยที่ 3 เป็นจำคุก 8 เดือนจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นตัวการร่วมกระทำผิดด้วยกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แต่ทางพิพาทไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมลงมือกระทำความผิดด้วยแม้คดีจะได้ความว่าจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปกระทำความผิดก็จะลงโทษจำเลยที่ 3 ในฐานเป็นผู้ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 44มิได้ เพราะโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้ อย่างไรก็ตามการที่จำเลยที่ 3 มอบรถแทรกเตอร์ของตน 2 คันให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปกระทำการขุดตักดินอันเป็นความผิดฐานทำลายที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แม้โจทก์จะมิได้กล่าวถึงเรื่องสนับสนุนมาในฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 3 ในฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ดังที่ศาลฎีกาเคยพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ 237/2516 (ประชุมใหญ่) คดีระหว่างพนักงานอัยการกรมอัยการ โจทก์ นายสุโชค พิมสถิตย์ กับพวก จำเลย เหตุนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการร่วมลงมือกระทำความผิดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยที่ 3 คงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น

ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดด้วย เพราะได้ให้นายประจวบ ละมัยเทศ เช่ารถแทรกเตอร์ของกลางรายนี้ไปโดยมีหนังสือสัญญาเช่ามาแสดงต่อศาลเป็นหลักฐานนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าถ้าหากจำเลยที่ 3 ให้นายประจวบ ละมัยเทศ เช่าไปตามสัญญานั้นจริงจำเลยที่ 3ก็คงจะนำหลักฐานสัญญาเช่านั้นไปแสดงต่อเจ้าพนักงานสอบสวนแล้ว แต่ก็หาได้กระทำไม่ ตรงกันข้ามจำเลยที่ 3 ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า นายประจวบละมัยเทศ ได้มาเจรจาว่าจ้างจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2519 ให้ไปทำการขุดและตักดินลูกรังที่เขาใหญ่ จำเลยที่ 3 จึงได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 นำรถไปขุดและตักดินในวันที่ 5 พฤษภาคม 2519ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุ เพราะฉะนั้นถ้าหากจำเลยที่ 3 ทำสัญญาให้นายประจวบละมัยเทศ เช่าไปตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2519 ดังที่อ้างในชั้นศาลจริงแล้วนายประจวบ ละมัยเทศ ก็คงจะไม่มาเจรจาว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 นำรถไปขุดและตักดินในวันที่ 2 พฤษภาคม 2519 อีก แสดงให้เห็นว่าสัญญาเช่าที่จำเลยที่ 3นำมาแสดงในชั้นศาลนั้น เป็นเรื่องที่ทำขึ้นภายหลัง จึงไม่เป็นข้อแก้ตัวให้จำเลยที่ 3พ้นผิดได้ อนึ่งที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามสภาพแห่งความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีนี้ยังไม่มีเหตุอันควรรอ

พิพากษาแก้ว่า เฉพาะจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 ข้อ 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 86, 33 ประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดเขตหวงห้ามที่เขาหรือภูเขาตามความในมาตรา 9(2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ลงวันที่ 27 มีนาคม 2499 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360,86 ซึ่งเป็นบทหนัก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ระวางโทษสองในสามของความผิดที่สนับสนุน จำคุกแปดเดือน คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงให้จำคุกจำเลยที่ 3 ไว้มีกำหนดห้าเดือนสิบวัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share