คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2639/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การแจ้งการประเมินภาษีอากรมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 173 เริ่มนับใหม่เมื่อพ้นระยะเวลาสามสิบวันที่กำหนดให้นำค่าภาษีไปชำระตามหนังสือแจ้งการประเมินและพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากรอันโจทก์อาจบังคับยึดทรัพย์หรือใช้สิทธิฟ้องร้องได้แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 10 ปีแล้วจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 แม้โจทก์จะมีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยครั้งที่สองก็ไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงแล้วสะดุดหยุดลงอีก เพราะจะมีผลเป็นการขยายอายุความที่กฎหมายกำหนดไว้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 191.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดสวัสดีภาพยนตร์เป็นหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระแก่โจทก์ 389,137.25 บาทเจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรของโจทก์ได้แจ้งการประเมินภาษีให้ห้างดังกล่าวทราบโดยวิธีปิดหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ประตูบ้านสำนักงานใหญ่ของห้างเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2526แต่ห้างดังกล่าวไม่นำเงินภาษีไปชำระแก่โจทก์ และไม่ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ การไม่ชำระภาษีอากรเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ห้างดังกล่าวต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มภาษีตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรอีกร้อยละ 20 ของภาษีที่ต้องเสียคิดเป็นเงิน77,827.45 บาท ห้างจึงค้างชำระภาษีอากรรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน466,964.69 บาท จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้ามดังกล่าวประเภทไม่จำกัดความรับผิด จึงต้องร่วมรับผิดชำระภาษีอากรให้แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระภาษีอากรค้างจำนวนดังกล่าวแล้ว 2 ครั้ง ทางไปรษณีย์ตอบรับ อันมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่ยึดมาชำระหนี้ได้ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัดสวัสดีภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2521ดังนั้นอายุความหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามมาตรา 181 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2521สิทธิเรียกร้องในหนี้ภาษีดังกล่าวมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 167ครบกำหนดอายุความวันที่ 30 สิงหาคม 2531 โจทก์ฟ้องให้จำเลยล้มละลาย–วันที่ 4 มกราคม 2532 เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์จะฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้นั้นจะต้องฟ้องห้างดังกล่าวให้ล้มละลาย และศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เสียก่อน จึงจะมีอำนาจขอให้จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการล้มละลายได้ หรืออีกกรณี หนึ่งคือ โจทก์ต้องฟ้องห้างดังกล่าวกับจำเลยให้ล้มละลายพร้อมกัน จะฟ้องจำเลยโดยไม่ฟ้องห้างไม่ได้ เพราะมูลหนี้ภาษีอากรเป็นของห้างโดยแท้ ไม่ใช่หนี้ของจำเลย โจทก์กลั่นแกล้งฟ้องจำเลยให้ล้มละลายเพื่อบีบบังคับให้จำเลยชำระภาษีดังกล่าวแทนห้าง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามของโจทก์ จำเลยไม่ใช่บุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ยังมีทรัพย์สินที่จะชำระค่าภาษีอากรตามฟ้องได้หากศาลฟังว่าจำเลยต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของห้าง ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้อที่ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์เพื่อเอาค่าภาษีรายพิพาทหนี้ขาดอายุความหรือไม่เสียก่อน ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้รายพิพาทนี้ ไปยังจำเลยตามหนังสือแจ้งการประเมินลงวันที่ 30 สิงหาคม 2521 เจ้าหน้าที่แผนกสารบรรณของโจทก์มีหน้าที่จัดส่งหนังสือดังกล่าวไปยังจำเลยโดยทางไปรษณีย์ แต่โจทก์ไม่ยืนยันว่าจำเลยได้รับหน้งสือ ดังกล่าวแล้วหรือไม่ เพราะไม่มีใบตอบรับต่อมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2526 โจทก์จึงส่งหนังสือแจ้งการประเมินนั้นไปยังจำเลยอีกครั้งหนึ่งและจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าอายุความหนี้ภาษีเงินได้รายนี้สะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2521 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 และเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2521 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 181 วรรคสอง จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะนำสืบให้เห็นว่า ในการส่งหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยครั้งแรก จำเลยยังไม่ได้รับหนังสือนั้น แต่โจทก์ไม่มีหลีกฐานการแจ้งการประเมินครั้งแรกมาแสดง ทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้แถลงรับว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แผนกสารบรรณของโจทก์เองเป็นผู้จัดการส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งโดยปกติแล้วย่อมจะส่งกันโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและสามารถรู้ผลการส่งได้ในเวลาไม่กี่วันเท่านั้น ดังเช่นการส่งของโจทก์ในครั้งที่สอง แต่หลักฐานการส่ง ผู้จัดส่งตลอดจนใบรับที่แสดงว่าได้ส่งหนังสือแจ้งการประเมินครั้งแรกให้แก่จำเลยรับไปโจทก์มิได้นำสืบและไม่มีมาเป็นพยานสนับสนุนข้ออ้าง กลับได้ความตามคำแถลงของโจทก์และในบันทึกท้ายหนังสือแจ้งการประเมินครั้งแรก โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบของโจทก์บันทึกไว้ว่า “ลงทะเบียนปิดเรื่องแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2521” แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่แผนกสารบรรณของโจทก์ได้ส่งหนังสือแจ้งการประเมินลงวันที่ 30 สิงหาคม2521 ไปยังจำเลยและจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วอย่างช้าในวันที่ 6 กันยายน 2521 มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบของ โจทก์จะบันทึกการปิดเรื่องไว้ทำไม เมื่อจำเลยปฏิเสธว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์จะต้องนำสืบให้ศาลเชื่อว่าเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และการนำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นการนำสืบในสิ่งที่อยู่ในการรู้เห็นของโจทก์เมื่อโจทก์มิได้นำสืบ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า โจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้วอย่างช้าเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2521 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี ดังนั้นการแจ้งการประเมินภาษีอากรย่อมเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 อายุความเรียกร้องให้จำเลยเสียภาษีรายพิพาทจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม2521 ซึ่งพ้นระยะเวลาสามสิบวันที่กำหนดให้นำค่าภาษีไปชำระตามหนังสือแจ้งการประเมิน และพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากรอันโจทก์อาจบังคับ ยึดทรัพย์หรือใช้สิทธิฟ้องร้องได้เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2532 เกิน 10 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 167 ที่โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังจำเลยครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2526 จึงไม่ทำให้อายุความที่สะดุดหยุดลงแล้วสะดุดหยุดลงอีก เพราะจะมีผลเป็นการขาดอายุความที่กฎหมายกำหนดไว้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share