คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2638/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับเดิมโอกาสที่ลูกจ้างจะได้รับผลประโยชน์หรือบำเหน็จมีครั้งเดียวเมื่อออกจากงานแต่ประกาศแผนบำเหน็จก่อนออกจากงานของนายจ้างซึ่งประกาศใช้ภายหลังมีข้อความเพิ่มเติมให้ลูกจ้างมีโอกาสเลือกจะขอรับผลประโยชน์หรือบำเหน็จก่อนออกจากงานหรือเลือกรับผลประโยชน์ครั้งเดียวตามข้อบังคับเดิมก็ได้ ไม่เป็นการบังคับทั้งไม่มีข้อพิสูจน์ว่า เงินบำเหน็จก่อนออกจากงานซึ่งลูกจ้างรับจากนายจ้างจะให้ผลประโยชน์น้อยกว่าหรือเป็นข้อเสียเปรียบเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่รอรับเมื่อออกจากงาน ข้อบังคับหรือแผนบำเหน็จดังกล่าวไม่มีข้อความขัดหรือแย้งกับข้อบังคับเดิมจึงใช้บังคับได้ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏสาเหตุ เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ได้รับความเสียหายคืนขาดเงินประโยชน์ที่จะได้รับจากจำเลยเมื่อเกษียณอายุ ขาดรายได้จากเงินเดือนค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินผลประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อออกจากงานจำเลยคำนวณไม่ถูกต้องจ่ายให้โจทก์ขาดจำนวนขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีสาเหตุสมควรและเป็นธรรม จำเลยจ่ายเงินผลประโยชน์ให้โจทก์ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินผลประโยชน์ถึงวันเกษียณอายุ เพราะโจทก์จำเลยฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาจ้างต่อกันเมื่อใดก็ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำเลยจ่ายให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์คำนวณเงินบำเหน็จผิดไปจากประกาศของจำเลย

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าประกาศแผนบำเหน็จก่อนออกจากงานไม่มีผลใช้บังคับ เพราะขัดหรือแย้งกับข้อบังคับเดิมนั้นเมื่อปรากฏว่าตามข้อบังคับเดิมโอกาสที่ลูกจ้างจะได้รับผลประโยชน์หรือบำเหน็จมีครั้งเดียว เมื่อออกจากงาน แต่ประกาศแผนบำเหน็จก่อนออกจากงานของนายจ้างซึ่งประกาศใช้ภายหลัง มีข้อความเพิ่มเติมให้ลูกจ้างมีโอกาสเลือกจะขอรับผลประโยชน์หรือบำเหน็จก่อนออกจากงาน หรือเลือกรับผลประโยชน์ครั้งเดียวตามข้อบังคับเดิมก็ได้ ไม่เป็นการบังคับ ทั้งไม่มีข้อพิสูจน์ว่า เงินบำเหน็จก่อนออกจากงานซึ่งลูกจ้างรับจากนายจ้างจะให้ผลประโยชน์น้อยกว่า หรือเป็นข้อเสียเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่รอรับเมื่อออกจากงาน ข้อบังคับหรือแผนบำเหน็จดังกล่าวไม่มีข้อความขัดหรือแย้งกับข้อบังคับเดิม จึงใชับังคับได้ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20

พิพากษายืน

Share