คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2636/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นจำคุก 5 ปี ดังนี้ เพียงแก้ เฉพาะ การกำหนดโทษ มิได้แก้บทความผิด เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 เจ้าพนักงานตำรวจจับเฮโรอีนของกลางได้จากจำเลย จำนวน 62หลอด มีปริมาณ 58.625 กรัม นับว่ามีจำนวนมาก และพฤติการณ์เห็นได้ว่าทำไว้เพื่อความสะดวกแก่การจำหน่าย ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกมีกำหนด20 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 10 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนดังนี้ เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 67, 102 พระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472มาตรา 53, 69 พระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2512 มาตรา 5ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 และพระราชบัญญัติฝิ่น พ.ศ. 2472มาตรา 53 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฝิ่น (ฉบับที่ 7)พ.ศ. 2512 มาตรา 5 เรียงกระทงลงโทษ จำคุกกระทงละ 20 ปี รวมจำคุก40 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงและมีปริมาณมาก ศาลชั้นต้นวางโทษในข้อหานี้เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว แต่ข้อหามีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ศาลชั้นต้นลงโทษหนักเกินไป พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยสำหรับข้อหามีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 5 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุกทั้งสิ้น 15 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษลงอีก
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในการที่จะปรับว่า คดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ต้องพิจารณากระทงความผิดเป็นกระทง ๆ ไปสำหรับความผิดฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก5 ปี ดังนี้ศาลอุทธรณ์เพียงแต่แก้เฉพาะการกำหนดโทษโดยมิได้แก้บทความผิด เป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษลงอีก อันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายว่าสมควรลดโทษให้จำเลยอีกหรือไม่ พิเคราะห์แล้วความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคแรกบัญญัติให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับเฮโรอีนของกลางได้จากจำเลยโดยแบ่งใส่หลอดมีจำนวน 62 หลอด พฤติการณ์เห็นได้ว่าทำไว้เพื่อความสะดวกแก่การจำหน่ายทั้งเฮโรอีนของกลางมีปริมาณถึง 58.625 กรัม นับว่ามีจำนวนมากที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้มีกำหนด 20 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 10 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นการเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน”.

Share