แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยนำเข้าสินค้ากากกุ้งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าว่าสินค้าขาเข้าจัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 10 และเสียภาษีอากรตามอัตราดังกล่าว แต่ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบว่า สินค้าดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทพิกัด 0508.00 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 35 จึงขอให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มเติม จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 แต่มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภายใน 30 วัน ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ฉ ซึ่งบัญญัติว่า “…ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน…” การประเมินจึงยุติ จำเลยไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากรเพิ่มเติมตามฟ้อง แม้ศาลภาษีอากรกลางจะมิได้ยกข้อที่จำเลยไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบขึ้นวินิจฉัย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มแก่โจทก์เป็นเงินรวม 282,281.16 บาท และชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนนับเป็นหนึ่งเดือนของค่าอากรขาเข้าและอากรพิเศษที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้รับแจ้งการประเมินของโจทก์ สินค้ากากกุ้งที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นสินค้าที่จัดอยู่ในประเภทอาหารสัตว์หรือกากและเศษที่เหลือจากอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรืออาหารที่จัดทำไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีลักษณะป่นอยู่ในพิกัด 2301.20 หมวด 4 ตอนที่ 23 ของพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 อัตราร้อยละ 10 มิได้อยู่ในพิกัด 0508.00 หมวด 1 ตอนที่ 5 อัตราอากรร้อยละ 35 ดังที่เจ้าพนักงานของโจทก์ประเมินเรียกเก็บ จำเลยชำระอากรถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยต้องชำระภาษีอากรเพิ่มเติมตามฟ้องหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า สินค้ากากกุ้งที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรจัดอยู่ในประเภทพิกัด 0508.00 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 35 ตามที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ประเมินไว้ มิได้จัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 10 ตามที่จำเลยได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า เห็นว่า จำเลยนำเข้าสินค้ากากกุ้งเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2541 และวันที่ 29 มีนาคม 2542 โดยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าว่าสินค้าที่นำเข้าจัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 10 และเสียภาษีอากรตามอัตราดังกล่าว แต่ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบว่าสินค้าดังกล่าวจัดอยู่ในประเภทพิกัด 0508.00 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 35 จึงขอให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มเติม จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 แต่มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภายใน 30 วัน ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 112 ฉ ซึ่งบัญญัติว่า “…ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน…” การประเมินจึงยุติ จำเลยไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากรเพิ่มเติมตามฟ้อง แม้ศาลภาษีอากรกลางจะมิได้ยกข้อที่จำเลยไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบขึ้นวินิจฉัย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระภาษีอากรจำนวน 282,281.16 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของอากรขาเข้าจำนวน 153,375 บาท และอากรพิเศษจำนวน 15,337 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จ