คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2635/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีข้อบังคับให้จ่ายบำเหน็จเมื่อพนักงานมีอายุงานครบ5 ปี หรือกว่านั้นแต่ค่าชดเชยนั้นลูกจ้างประจำซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันก็มีสิทธิได้รับแล้ว การคำนวณบำเหน็จก็อาศัยค่าจ้างสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีของอายุงานและตัวประกอบอื่นอีก และ ยังจ่ายให้ในกรณีลาออกและถึงแก่กรรมอีกด้วย เงินบำเหน็จจึงมีลักษณะเป็นการสงเคราะห์ตอบแทนการที่ลูกจ้างทำงานด้วยดีจนออกจากงานหรือถึงแก่กรรมถือได้ว่าเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง มิใช่ค่าชดเชย ดังนั้น การที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันให้เงินบำเหน็จนี้เป็นค่าชดเชย จึงเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อตกลงนั้นจึงไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำและเลิกจ้างเพราะครบเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า เมื่อโจทก์ออกจากงานโจทก์ได้รับเงินบำเหน็จซึ่งมีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยไปแล้ว จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์อีก

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

ผู้พิพากษาสมทบนายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า เงินค่าชดเชยเป็นเงินคนละประเภทกับเงินบำเหน็จ

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พนักงานของจำเลยที่ต้องออกจากงานหรือที่จำเลยเลิกจ้าง จะได้รับบำเหน็จจากจำเลย โดยมีเงื่อนไขว่า พนักงานประจำต้องมีอายุงานครบ 5 ปี หรือกว่านั้นจำเลยจึงจะจ่ายเงินบำเหน็จให้ ส่วนค่าชดเชยนั้น ลูกจ้างประจำซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันก็มีสิทธิได้รับแล้ว และการจ่ายเงินบำเหน็จยังรวมไปถึงกรณีลาออกและถึงแก่กรรมด้วย การคำนวณก็อาศัยค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีของอายุงานและคูณด้วยตัวประกอบอื่น เงินบำเหน็จนี้จึงมีลักษณะเป็นการสงเคราะห์และตอบแทนการที่ลูกจ้างทำงานมาด้วยดีจนออกจากงานโดยไม่มีความผิด และถึงแก่กรรมก็มีสิทธิได้รับ เป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าค่าชดเชย ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง จึงเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ดังนั้นข้อตกลงที่จำเลยกับโจทก์ยินยอมให้เงินบำเหน็จดังกล่าวเป็นค่าชดเชย จึงเป็นการหลีกเลี่ยงเพื่อที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 ข้อตกลงนี้ไม่มีผลผูกพันโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ย

Share