คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2633/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายคำฟ้องในตอนแรกว่า จำเลยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งแปด ซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยเรียกและรับค่าบริการเป็นเงินตอบแทนจากคนหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่คำฟ้องตอนหลังบรรยายว่า จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยบอกและรับรองว่า จำเลยสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งแปดไปทำงานต่างประเทศโดยได้รับค่าจ้างตอบแทนได้ ความจริงจำเลยเพียงแต่ดำเนินการให้ผู้เสียหายทั้งแปดเดินทางไปต่างประเทศได้เท่านั้น ไม่สามารถจัดให้ผู้เสียหายทั้งแปดได้ทำงานโดยได้รับค่าจ้างตอบแทนตามที่อ้าง การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์แสดงว่า จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งแปด แต่อ้างเอาเรื่องการจัดหางานขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งแปดเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341 ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 520,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายทั้งแปด และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 673/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณานางอุไรวรรณ น้อยเสนา นายกิติกรณ์ ปิดสายะ นายวุฒิพงค์ อุทัยแสน นางอัญชลี อุทัยแสน นายสุทธิรักษ์ ไร่รัตน์ นายอุเทน เพ็งพันศรี ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 ปี ส่วนความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ และความผิดฐานฉ้อโกงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 520,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งแปด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2522 มาตรา 91 ตรี ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี เมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจะมีความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ตอนแรกบรรยายว่าจำเลยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งแปด ซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยเรียกและรับค่าบริการเป็นเงินตอบแทนจากคนหางานโดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ตอนหลังบรรยายว่า จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยบอกและรับรองแก่ผู้เสียหายทั้งแปดว่า จำเลยสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งแปดไปทำงานในโรงงานที่ประเทศเกาหลีใต้ (ที่ถูก สาธารณรัฐเกาหลี) โดยผู้เสียหายทั้งแปดจะได้รับค่าจ้างแรงงานเดือนละ 15,000 บาท ถึง 20,000 บาท แต่ความจริงแล้ว จำเลยเพียงแต่ดำเนินการให้ผู้เสียหายทั้งแปดเดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ (ที่ถูก สาธารณรัฐเกาหลี) ได้เท่านั้น จำเลยไม่สามารถจัดให้ผู้เสียหายทั้งแปดได้ทำงานโดยรับค่าจ้างตอบแทนตามที่จำเลยกล่าวอ้าง หากแต่การกล่าวอ้างด้วยวิธีการดังกล่าวเพื่อให้ผู้เสียหายทั้งแปดหลงเชื่อว่าเป็นความจริงตกลงสมัครงานและจ่ายเงินให้แก่จำเลยโดยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยได้ไปซึ่งเงินของผู้เสียหายทั้งแปด การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งแปด แต่จำเลยอ้างเอาเรื่องการจัดหางานขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งแปดเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share