คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2633/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานว่าเป็นคนสัญชาติไทยในการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน กับแจ้งต่อเจ้าพนักงานให้จดข้อความลงในเอกสารราชการว่าจำเลยมีสัญชาติไทยอันเป็นความเท็จนั้น หาเป็นการขัดแย้งกันไม่ เพราะต่างก็เป็นการกระทำอันเป็นความผิดในตัวแยกต่างหากจากกันได้จำเลยก็เข้าใจข้อหาได้ดี และให้การรับสารภาพโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
ปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้มีสัญชาติไทย ได้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าตนมีสัญชาติไทย ต่อนายวิศิษฐ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รับคำขอออกบัตรและถ่ายรูปติดบัตรประจำตัวประชาชนประจำอำเภอ และแจ้งให้นายวิศิษฐ์จดข้อความอันเป็นเท็จลงใน บ.ป.๑ อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นหลักฐานว่าจำเลยมีสัญชาติไทย ความจริงจำเลยมีสัญชาติญวน เป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่อำเภอผู้มีหน้าที่รับคำขอออกบัตร ออกบัตรและถ่ายรูปติดบัตรประจำตัวประชาชนต้องเสียหาย หลงเชื่อออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลย การกระทำของจำเลยโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายวิศิษฐ์ และกรมการปกครอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๒๖๗พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๗
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๗ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จเป็นการกล่าวถึงการกระทำอันเป็นมูลแห่งความผิดขัดแย้งกัน เป็นฟ้องไม่ถูกต้องหรือไม่ เห็นว่าการที่โจทก์บรรยายฟ้องดังกล่าวหาเป็นการขัดแย้งกันไม่ เพราะการแจ้งต่อเจ้าพนักงานว่าเป็นคนสัญชาติไทยในการยื่นขอมีบัตรประจำตัวประชาชนกับการแจ้งต่อเจ้าพนักงานให้จดข้อความลงในเอกสารทางราชการว่าจำเลยมีสัญชาติไทยอันเป็นความเท็จนั้น ต่างก็เป็นการกระทำอันเป็นความผิดในตัวแยกต่างหากจากกันได้ จำเลยก็เข้าใจข้อหาได้ดีและให้การรับสรรภาพโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๘ แต่สำหรับข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๗ และตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕มาตรา ๑๗ ว่าตนมีสัญชาติไทยนั้น เป็นความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนและไม่เกินหนึ่งปี จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๑๘ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เกินห้าปี คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๕(๔) ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะข้อหาฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎมายอาญา มาตรา ๑๓๗ และตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๗ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share