คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดรายรับของโจทก์โดยพิจารณาจากสถิติการเสียภาษีการค้าของโจทก์อันเป็นหลักเกณฑ์อย่างอื่นอันอาจแสดงรายรับได้โดยสมควรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ทวิ (7) เป็นเกณฑ์แม้จำนวนเงินดังกล่าวจะฟ้องกับรายรับขั้นต่ำที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2526 ก็ตาม แต่ก็มิใช่จำนวนเดียวกัน เพราะที่มาของหลักเกณฑ์ต่างกัน การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงมิใช่อาศัยยอดรายรับขั้นต่ำที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าของโจทก์ เป็นการชอบด้วยกฎหมาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เริ่มประกอบการค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2526 จดทะเบียนประเภทการค้า7 (ง) และได้เลิกประกอบการค้าตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 โดยให้ผู้อื่นรับช่างดำเนินกิจการต่อไป โจทก์แจ้งเลิกกิจการค้าเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2530 โจทก์ได้รับแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีการค้าสำหรับปี พ.ศ. 2528 และระหว่างเดือนมกราคมกับเดือนกุมภาพันธ์ 2529 เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงิน 277,930 บาท โจทก์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องเพราะโจทก์เลิกประกอบการค้าตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 จึงไม่มีรายรับที่จะต้องนำมาคำนวณ เพื่อเสียภาษีการค้า การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเอายอดรายรับขั้นต่ำได้กำหนดไว้ล่วงหน้าเดือนละ 77,000 บาท ตั้งแต่เดือนกันยายน 2526มาทำการประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าของโจทก์ โดยที่ประมวลรัษฎากรมิได้ให้อำนาจเป็นการไม่ชอบ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์ ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ประกอบการค้าโดยมิได้โอนกิจการแก่ผู้ใดจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 จากการตรวจสอบพบว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าตั้งแต่เดือนมกราคม 2526 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2527 ต่ำกว่ากำหนดรายรับขั้นต่ำที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 กำหนดไว้เดือนละ 77,000 บาท จึงแนะนำให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรที่ขาดอยู่ให้ครบ โจทก์ยอมชำระโดยยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามมาตรา 30แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14)พ.ศ. 2529 เป็นผลให้การชำระภาษีอากรของโจทก์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527ย้อนหลังไป 5 ปี ถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าและชำระภาษีการค้าสำหรับปี พ.ศ. 2528 กับเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2529 เจ้าพนักงานประเมินจึงได้จัดทำรายการลงในแบบแสดงรายการการค้าตามหลักฐานที่เห็นว่าถูกต้อง และประเมินการค้าของโจทก์โดยกำหนดรายรับขั้นต่ำเป็นรายเดือนโดยพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่พฤติการณ์และสถิติการค้าในการประกอบการค้าของโจทก์ที่ได้ตรวจสอบไว้ก่อนและในปี พ.ศ. 2528 ประกอบกับผู้ประกอบการค้าอื่นที่ทำกิจการทำนองเดียวกัน ไม่ใช่เป็นการกำหนดรายรับขั้นต่ำของโจทก์ไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ยังเป็นเจ้าของและประกอบกิจการอยู่จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 แต่การที่เจ้าพนักงานประเมินอาศัยยอดรายรับขั้นต่ำที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นฐานในการประเมินเป็นการไม่ชอบ พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้เลิกประกอบการค้าแล้วตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2527สำหรับปัญหาที่ว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าของโจทก์โดยกำหนดรายรับเดือนละ 77,000 บาท เป็นเกณฑ์ในการประเมินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าจำเลยมีนายชัยสิทธิ์เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีรายได้ของโจทก์เบิกความประกอบเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่40, 41, 42 ว่าโจทก์ได้ยื่นขอเสียภาษีอากรเพิ่มเติมตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529โดยแสดงยอดรายรับของปี พ.ศ. 2526 ไว้เป็นเงิน 932,470 บาท ปีพ.ศ. 2527 ไว้เป็นเงิน 1,094,850 บาท พยานจึงพิจารณาจากสถิติการเสียภาษีการค้าของโจทก์ที่โจทก์แสดงยอดรายรับไว้ได้ดังกล่าวเฉลี่ยแล้วโจทก์มีรายรับไม่ต่ำกว่าเดือนละ 77,000 บาท เป็นเกณฑ์ในการกำหนดรายรับของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2528 และปี พ.ศ. 2529แล้วเสนอต่อเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าของโจทก์ศาลฎีกาเห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดรายรับของโจทก์โดยพิจารณาจากสถิติการเสียภาษีการค้าของโจทก์อันเป็นหลักเกณฑ์อย่างอื่นอันอาจแสดงรายรับได้โดยสมควรตามประมวลรัษฎากร มาตรา87 ทวิ เป็นหลักเกณฑ์ จึงเป็นการกำหนดรายรับที่ชอบด้วยกฎหมายจำนวนเงินรายรับดังกล่าวแม้จะฟ้องกับรายรับขั้นต่ำที่เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2526ก็ตาม แต่ก็มิใช่จำนวนเดียวกัน เพราะที่มาของหลักเกณฑ์ต่างกันรายรับขั้นต่ำนั้นได้มาจากการควบคุมตรวจสอบและจดรายรับประจำวันส่วนกำหนดรายรับตามมาตรา 87 ทวิ (7) นั้น ได้มาจากสถิติการเสียภาษีการค้าของโจทก์ตามที่แสดงไว้ในแบบ อ.1 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 40 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงมิใช่การอาศัยยอดรายรับขั้นต่ำที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าของโจทก์ดังที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมา ฉะนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share