คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินได้พิจารณาจากสถิติการเสียภาษีการค้าของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2526 และ พ.ศ. 2527 ที่โจทก์แสดงยอด รายรับไว้ตามแบบ อ.1 ซึ่งเฉลี่ยแล้วโจทก์มีรายรับไม่ต่ำกว่าเดือนละ 77,000 บาท เป็นเกณฑ์ในการกำหนดรายรับของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2528 และปี พ.ศ. 2529 ดังนี้ เป็นการกำหนดรายรับของโจทก์โดยพิจารณาจากสถิติการเสียภาษีการค้าของโจทก์ อันเป็นหลักเกณฑ์อย่างอื่นอันอาจแสดงรายรับได้โดยสมควรตาม ป.รัษฎากรมาตรา 87 ทวิ(7) เป็นหลักเกณฑ์ จึงเป็นการกำหนดรายรับที่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวนเงินรายรับดังกล่าวแม้จะพ้อง กับรายรับขั้นต่ำที่เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2526ก็ตาม แต่ก็มิใช่จำนวนเดียวกันเพราะที่มาแห่งหลักเกณฑ์ต่างกันรายรับขั้นต่ำนั้นได้มาจากการควบคุมตรวจสอบและจดรายรับประจำวันส่วนกำหนดรายรับตามมาตรา 87 ทวิ(7) ได้มาจากสถิติการเสียภาษีการค้าของโจทก์ที่แสดงไว้ในแบบ อ.1 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงมิใช่การอาศัยยอด รายรับขั้นต่ำที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าของโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบการค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มจดทะเบียนการค้าไว้ในประเภทการค้า 7(ง) และได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงยอดรายรับตามที่ได้รับจริงตลอดมา กิจการค้าของโจทก์ประสบการขาดทุน จึงได้เลิกประกอบการค้าตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน2527 นายอโนชา ทรัพย์พระวงศ์ รับช่วงดำเนินกิจการค้าต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2530 เจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีการค้าสำหรับปี พ.ศ. 2528 เบื้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงิน 249,525 บาท ภาษีการค้าระหว่างเดือนมกราคม กับเดือนกุมภาพันธ์ 2529 เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 28,405 บาทโจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณืการประเมิน ต่อมาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2531 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมิน กับเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้วขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมิน และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าของโจทก์ โดยกำหนดรายรับเดือนละ 77,000 บาท เป็นเกณฑ์ในการประเมินนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีนายชัยสิทธิ์เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีรายรับของโจทก์เบิกความประกอบเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 40, 41, 42 ว่า โจทก์ได้ยื่นขอเสียภาษีอากรเพิ่มเติมตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 โดยแสดงยอดรายรับของปี พ.ศ. 2526 ไว้เป็นเงิน 932,470 บาท ปี พ.ศ. 2527 ไว้เป็นเงิน 1,094,850 บาท เมื่อโจทก์มิได้เลิกประกอบการค้าและมิได้ยื่นแบบแสดงรายการค้าสำหรับปีพ.ศ. 2528 และสำหรับเดือนมกราคมกับเดือนกุมภาพันธ์ 2529 ไว้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด พยานจึงได้พิจารณาจากสถิติจากเสียภาษีการค้าของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2526 และ พ.ศ. 2527 ที่โจทก์แสดงยอดรายรับไว้ตามแบบ อ.1 เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 40 ซึ่งเฉลี่ยแล้วโจทก์มีรายรับไม่ต่ำกว่าเดือนละ 77,000 บาท เป็นเกณฑ์ในการกำหนดรายรับของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2528 และปี พ.ศ. 2529 แล้วเสนอต่อเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าของโจทก์ เจ้าพนักงานประเมินก็ได้ทำการประเมินโดยถือตามเกณฑ์ที่พยานเสนอดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าเจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดรายรับของโจทก์โดยพิจารณาจากสถิติการเสียภาษีการค้าของโจทก์อันเป็นหลักเกณฑ์อย่างอื่นอันอาจแสดงรายรับได้โดยสมควรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ทวิ(7) เป็นหลักเกณฑ์ จึงเป็นการกำหนดรายรับที่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวนเงินรายรับดังกล่าวแม้จะพ้องกับรายรับขั้นต่ำที่เจ้าพนักงานประเมินได้กำหนดไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2526 ก็ตามแต่ก็มิใช่จำนวนเดียวกันเพราะที่มาของหลักเกณฑ์ต่างกัน รายรับขั้นต่ำนั้นได้มาจากการควบคุมตรวจสอบและจดรายรับประจำวันส่วนกำหนดรายรับตามมาตรา 87 ทวิ(7)นั้น ได้มาจากสถิติการเสียภาษีการค้าของโจทก์ตามที่แสดงไว้ในแบบ อ.1เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 40 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงมิใช่การอาศัยยอดรายรับขั้นต่ำที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าของโจทก์ดังที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมา ฉะนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share