คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับการยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากบิดา แต่เนื่องจากพี่น้องของโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนบิดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวการโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์จึงทำเป็นสัญญาซื้อขาย แล้วโจทก์ได้ขายที่ดินไปหลังจากได้กรรมสิทธิ์มาเป็นเวลาถึง 14 ปี แม้ระหว่างนั้นจะมีการจำนองและไถ่จำนองที่ดินและการรวมที่ดินเป็นแปลงใหญ่รวมทั้งจัดหาที่ดินทำทางเข้าออกติดกับถนนใหญ่ด้วย ก็เป็นการกระทำเพียงเพื่อจะให้ได้ขายที่ดินได้ในราคาสูงซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของปุถุชนและไม่ได้ความว่าโจทก์ได้เคยซื้อขายที่ดินมาก่อนคงมีการขายที่ดินครั้งพิพาทนี้ครั้งเดียว การกระทำของโจทก์ยังไม่เป็นการกระทำเพื่อมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์ได้รับการยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินจากบิดา แต่ทำเป็นสัญญาซื้อขาย การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าสัญญาซื้อขายไม่สมบูรณ์นั้นย่อมนำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง การกระทำของโจทก์ในการจดทะเบียนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินนั้นเป็นการแสดงเจตนาลวง แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 118 วรรคแรก ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายแต่การแสดงเจตนาลวงนั้นก็ตามแต่ในการประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน จะกระทำได้ก็ต้องให้ได้ความด้วยว่าโจทก์ได้มุ่งในทางการค้าและหากำไรด้วยซึ่งข้อนี้จำต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยทั้งสี่ไม่โต้แย้งว่าที่ดินทั้งสามแปลงนั้นเดิมเป็นของนายเป้ง แซ่โค้ว บิดาโจทก์ ตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า บิดาโจทก์เป็นคนต่างด้าวจึงให้ใส่ชื่อลูกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทนสำหรับที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวใส่ชื่อนายสวัสดิ์ ศุภพิพัฒน์นายวุฒิศาล ศุภพิพัฒน์ และนายวิชิต ศุภพิพัฒน์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ส่วนโจทก์มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนบิดาในที่ดินตามโฉนดเอกสารหมาย จ.42 ถึง จ.46 นายสุกิจ วรสุชา นายบวร ศุภพิพัฒน์นายสวัสดิ์ ศุภพิพัฒน์ พยานโจทก์ต่างเบิกความสนับสนุนคำโจทก์จำเลยมิได้สืบพยานหักล้างในข้อนี้อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวและได้ความต่อไปว่า เมื่อปี 2505 นายเป้งประสงค์จะแบ่งปันทรัพย์สินของตนให้แก่บุตรชายทุกคนอย่างเป็นธรรม โดยใช้วิธีจัดแบ่งทรัพย์สินทั้งหมดออกเป็น 7 กอง แล้วให้บุตรจับสลากว่าบุตรคนใดจะได้ทรัพย์สินกองใด เมื่อจับสลากแล้วได้มีการทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.6/1 ซึ่งเป็นภาษาจีนและมีคำแปลเป็นภาษาไทยตามเอกสารหมาย จ.6 ปรากฏว่าทรัพย์สินที่โจทก์และพี่น้องได้รับยกให้โดยการจับสลากนั้น ไม่ตรงกับทรัพย์สินที่ได้ยึดถืออยู่ก่อนแล้วจึงต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์แก่กันให้ตรงกับทรัพย์สินที่ตนได้กรรมสิทธิ์นายภักดิ์ ยังน้อย พยานโจทก์ซึ่งเป็นทนายความเบิกความว่าโจทก์และพี่น้องได้มอบฉันทะให้พยานไปจัดการโอนทรัพย์สินโดยให้ดำเนินการเป็นเรื่องการยกให้โดยเสน่หาแต่พยานแนะนำว่าควรทำเป็นเรื่องการซื้อขาย เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง ซึ่งโจทก์และพี่น้องก็เห็นด้วย เกี่ยวกับที่ดินสามแปลงที่โจทก์ได้รับมาจึงระบุว่าเป็นการซื้อขาย และปรากฏตามเอกสารหมาย จ.43 ถึง จ.46ว่าโจทก์ก็ได้โอนที่ดินให้แก่นายวิชิต นายสวัสดิ์ และนายนพดลศุภพิพัฒน์ เช่นกัน จึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่าการโอนทรัพย์สินระหว่างโจทก์และพี่น้องเป็นการโอนให้แลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงบันทึกการแบ่งทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.6/1 นั้น ที่จำเลยฎีกาว่า ในชั้นไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินโจทก์มิได้อ้างเอกสารหมายจ.6/1 เป็นพยาน ก็อาจจะเป็นเพราะว่าเจ้าพนักงานมิได้สอบถามแต่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เจ้าพนักงานขอให้โจทก์นำหลักฐานมาแสดง โจทก์จึงได้นำเอกสารหมาย จ.6/1 แสดงต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว และศาลฎีกาเห็นว่า ตามสภาพของเอกสารหมาย จ.6/1 มีลักษณะเก่ามาก น่าจะได้ทำขึ้นนานแล้วดังที่โจทก์นำสืบส่วนที่นายเป้งมิได้ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารนั้น ก็ไม่ทำให้เอกสารนั้นรับฟังไม่ได้ เพราะเป็นเพียงบันทึกข้อตกลงในการแบ่งทรัพย์สินระหว่างลูกของนายเป้ง ซึ่งต่างถือทรัพย์สินแทนนายเป้งไว้แล้ว และโจทก์กับพี่น้องก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ ทั้งนายจิงฮ้วงแซ่ลี้ ผู้ดำเนินการจัดทำเอกสารหมาย จ.6/1 ที่ได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ก็ได้เบิกความยืนยันว่าข้อเท็จจริงเป็นดังกล่าว จึงรับฟังข้อความในเอกสารนั้นได้ ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารสัญญาซื้อขาย เป็นการไม่ต้องด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ โจทก์มีสิทธินำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง และที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงจะใช้ยันบุคคลภายนอกและจำเลยหาได้ไม่นั้น เห็นว่า การกระทำของโจทก์ในการจดทะเบียนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินนั้นเป็นการแสดงเจตนาลวงแม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายแต่การแสดงเจตนาลวงนั้นก็ตาม แต่ในการประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมินในคดีนี้จะกระทำได้ก็ต้องให้ได้ความด้วยว่าโจทก์ได้มุ่งในทางด้านการค้าและหากำไรด้วย ซึ่งข้อนี้จำต้องพิจารณาโดยละเอียดถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ขายที่ดินไปหลังจากได้กรรมสิทธิ์มาเป็นเวลาถึง 14 ปี แม้ระหว่างนั้นจะมีการจำนองและไถ่จำนองที่ดินและมีการรวมที่ดินเป็นแปลงใหญ่ รวมทั้งจัดหาที่ดินทำทางเข้าออกติดกับถนนใหญ่ด้วย ดังที่จำเลยฎีกาก็เห็นว่าเป็นการกระทำเพียงเพื่อจะให้ได้ขายที่ดินในราคาที่สูงขึ้นซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของปุถุชนทั่วไป และไม่ได้ความว่าโจทก์ได้เคยซื้อขายที่ดินมาก่อน คงมีการขายที่ดินครั้งพิพาทนี้เพียงครั้งเดียว ศาลฎีกาได้พิเคราะห์โดยตระหนักแล้วเห็นว่า การกระทำของโจทก์ยังไม่เป็นการกระทำเพื่อมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้เพิกถอนคำสั่งแจ้งการประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เสียนั้น เป็นการชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share