แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยประกาศสัญญาว่าจะจ่ายค่าชดเชยตามอายุการทำงานแก่ลูกจ้างซึ่งลาออกโดยสมัครใจ ถ้อยคำว่า ‘ค่าชดเชย’ ที่จำเลยใช้ในประกาศ ตรงกับถ้อยคำที่ใช้ในกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ย่อมมีความหมายอย่างเดียวกันดังนี้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่สมัครใจลาออกให้ครบถ้วนตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
จำเลยมิได้ประกาศสัญญาจะจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างที่สมัครใจลาออก เมื่อลูกจ้างลาออกโดยจำเลยมิได้เลิกจ้างจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินประเภทนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายเก้าสิบวันซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์มีสิทธิได้รับเท่ากับหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเพิ่มอีกเท่ากับค่าอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน และต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ลาออกจากงานด้วยความสมัครใจโดยตกลงขอรับเงินเดือนอีกสามเดือนเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ลาออกจากงานด้วยความสมัครใจเพราะจำเลยออกประกาศว่า จำเลยให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะลาออกงานโดยความสมัครใจได้ ทั้งนี้จำเลยจะจ่ายค่าชดเชยตามอายุการทำงานให้ จำเลยผูกพันต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศให้แก่โจทก์ ทั้งต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์สมัครใจลาออกจากงานเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างให้โจทก์ออกจากงานปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานหรือกรณีหนึ่งกรณีใดตามที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ ที่แก้ไขแล้วจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย แต่คดีนี้ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยให้จำเลยค่าชดเชยตามบทบัญญัติในประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว โดยวินิจฉัยให้จำเลยรับผิดตามประกาศของจำเลยที่สัญญาว่าจะจ่ายค่าชดเชยตามอายุของการทำงานให้แก่ลูกจ้างซึ่งลาออกจากงานโดยสมัครใด ข้อที่จำเลยโต้เถียงว่า คำว่า “ค่าชดเชย” ตามประกาศหมายถึงรางวัลที่จำเลยจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นเงินอีกประเภทหนึ่งไม่ใช่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ นั้น เห็นว่า ถ้อยคำที่จำเลยใช้ในประกาศก็ใช้คำว่า “ค่าชดเชย” ซึ่งตรงกับถ้อยคำที่ใช้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ย่อมมีความหมายอย่างเดียวกัน ไม่ใช้ถ้อยคำเป็นพิเศษซึ่งจะแปลความหมายเป็นอย่างอื่น เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศของจำเลย จำเลยต้องจ่ายให้ครบถ้วนตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
เมื่อโจทก์สมัครใจลาออกจากงานเอง ไม่ใช่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ ทั้งตามประกาศจำเลยก็มิได้สัญญาว่าจะจ่ายเงินประเภทนี้ให้แก่โจทก์ จึงไม่ต้องรับผิด
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง