คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2627/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคณะรัฐมนตรีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ได้แต่งตั้งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยได้รับเงินเดือนเท่าเดิม มิได้ปลดโจทก์ออกจากงาน แต่เป็นการสั่งให้โจทก์พ้นตำแหน่งเดิมแล้วให้ไปทำงานตำแหน่งหน้าที่ใหม่ในฐานะเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย การทำงานของโจทก์ต่อเนื่องกัน ไม่มีระยะเวลาอันเป็นช่องว่างที่แสดงว่าโจทก์ต้องออกจากงานไปชั่วคราวแล้วกลับแต่งตั้งเข้ามาใหม่จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ร่วมกันเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และมีคำสั่งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นการผิดสัญญาจ้างและข้อตกลง และเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินสงเคราะห์รายเดือนแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์บกพร่องและหย่อนสมรรถภาพคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงดำเนินการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการและแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏในคำฟ้องและคำแถลงของโจทก์ว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ได้แต่งตั้งให้โจทก์ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาต่อไป โดยได้รับอัตราเงินเดือน 31,060 บาทเท่าเดิม ไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นการให้โจทก์ออกจากงาน หรือปลดออกจากงาน หรือไล่โจทก์ออกจากงาน หรือไม่ยอมให้โจทก์ทำงานเกิน 7 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้แต่ประการใด จำเลยยังคงให้โจทก์ทำงานตลอดมาโดยจ่ายค่าจ้างให้เท่าเดิม มิได้ปลดโจทก์ออกจากงาน แต่เป็นการสั่งให้โจทก์พ้นตำแหน่งหน้าที่เดิมแล้วให้ไปทำงานตำแหน่งหน้าที่ใหม่ในฐานะเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยเท่านั้น การทำงานของโจทก์ต่อเนื่องกัน ไม่มีระยะเวลาอันเป็นช่องว่างที่แสดงว่าโจทก์ต้องออกจากงานไปชั่วคราวแล้วกลับแต่งตั้งเข้ามาใหม่ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 วรรคสองแต่อย่างใด เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น ประกอบทั้งโจทก์เองได้แถลงรับว่าจำเลยไม่เคยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เลยด้วยเหตุดังวินิจฉัย การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยว่า กรณีโจทก์เป็นเพียงการโยกย้ายตำแหน่ง ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่วินิจฉัยประเด็นข้ออื่นจึงชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share