คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2625/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “SIBELIUM””ไซบีเลี่ยม” “สตูเจอร่อน” “SIBELIUM” กับรูปม้าบนอักษร “J” และ”STUGERON” กับรูปม้าบนอักษร “J” โดยโจทก์ใช้กับสินค้ายารักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดมาก่อนทั้งในประเทศและต่างประเทศจนเป็นที่แพร่หลายจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “STUBELIUM” หลังโจทก์หลายปีโดยใช้กับสินค้ายาขยายหลอดเลือด และใช้ตัวยา “FLUNARIZINE” ตัวเดียวกับยาของโจทก์ เครื่องหมายการค้าคำว่า “STUBELIUM” ของจำเลยเป็นการผสมของพยางค์ “”STU + BELIUM” คำดังกล่าวเป็นอักษรโรมัน 9 ตัว อักษร 3 ตัวแรกตรงกับอักษร 3 ตัวแรกของคำว่า “STUGERON” และอักษร 6 ตัวหลังตรงกับอักษร 6 ตัวหลังของคำว่า “SIBELIUM” ซึ่งล้วนเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำดังกล่าวเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นเฉพาะ ไม่ใช่คำที่ใช้สามัญ อักษรโรมันมี 26 ตัวหากจำเลยคิดประดิษฐ์เองโดยไม่ได้เห็นคำทั้งสองที่โจทก์ประดิษฐ์ใช้มาก่อน โอกาสที่จะตรงกันถึง 9 ตัว เรียงกันเช่นนั้นย่อมเป็นไปได้ยาก การที่โจทก์นำสืบถึงเครื่องหมายการค้าคำว่า “STUGERON” เพื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมของจำเลยในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่จะให้เหมือนหรือคล้ายกันเครื่องหมายการค้าคำว่า “SIBELIUM” แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวถึงเครื่องหมายการค้าคำว่า “STUGERON” มาในฟ้อง โจทก์ก็มีสิทธินำสืบและเป็นการนำสืบในประเด็น หาใช่นอกประเด็นไม่
กรณีพิพาทเรื่องเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนไม่ใช่วินิจฉัยแต่เพียงว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองจะต้องเหมือนกันทุกสิ่งทุกอย่างแต่ต้องวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้านั้นชวนให้เห็นว่าเป็นลักษณะทำนองเดียวกันและเมื่อเทียบเคียงแล้วมีลักษณะแตกต่างกันบ้าง จะชี้ขาดว่าไม่เหมือนกันไม่ได้ต้องเอามาเปรียบเทียบให้เห็นลักษณะในเวลาใช้อยู่ตามปกติและความสุจริตประกอบกับประเภทสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ากับสภาพแห่งท้องตลาด การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าที่แพร่หลายของโจทก์ 2 เครื่องหมาย มาตัดตอนหัวท้ายนำมาเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย และใช้กับสินค้ายารักษาโรคชนิดเดียวกัน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ลงทุนโฆษณาตามวิสัยทางการค้าเลยจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต การที่จำเลยลอกเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาตัดต่อเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยย่อมทำให้สาธารณชนสับสนอาจเข้าใจได้ว่าเป็นของโจทก์ได้ ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “STUBELIUM” ของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “SIBELIUM” ของโจทก์ถึงขนาดเป็นการลวงสาธารณชนให้หลงผิดได้
(เสริม บุญทรงสันติกุล – ยงยุทธ ธารีสาร – มงคลสระฏัน)ศาลแพ่ง นางสาวสุมาณี ทองภักดีศาลอุทธรณ์ นายสมชาย จุลนิติ์
นายสุพิศ ปราณีตพลกรัง – ย่อ
เยาวลักษณ์ พ/ท

Share