คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยและ พ. กับพี่น้องตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร้านค้าร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์แบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน จึงเข้าลักษณะสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 การที่ พ. สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์และจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าและทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์เป็นการดำเนินการในฐานะหุ้นส่วนอันเป็นไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนจะต้องรับผิดร่วมกับหุ้นส่วนคนอื่นๆ โดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้นตามมาตรา 1050
จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 ยอมรับว่ามียอดหนี้ค้างชำระสำหรับการสั่งซื้อสินค้าระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม 2542 เป็นการรับสภาพหนี้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าในแต่ละครั้งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15
โจทก์เข้าไปในร้านแล้วเอาเท้าวางไว้บนโต๊ะพูดจากับลูกค้าภายในร้านของจำเลยว่าสินค้าในร้านไม่มีคุณภาพ และบอกร้านค้าใกล้เคียงว่าจำเลยเป็นหนี้แล้วไม่ชำระ เป็นเพียงการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ด้วยพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น มิได้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการข่มขู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 164

ย่อยาว

โจทกฟ้องว่า จำเลยค้างชำระค่าสินค้าโจทก์ 262,472.91 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 จำเลยทำบันทึกการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ตกลงจะชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2543 หลังจากนั้นจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ 26,928 บาท คงค้างชำระ 235,544 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยชำระเงิน 264,494.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 235,544 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ตามฟ้อง โดยเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2542 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2542 ผู้ที่ซื้อสินค้าไปจากโจทก์หลายครั้งไม่ใช่จำเลย แต่เป็นผู้มีชื่อ เมื่อประมาณต้นปี 2543 จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาสุราษฎร์ธานี รวม 9 ฉบับ เป็นเงิน 230,888 บาท มอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าแทนผู้มีชื่อ แต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้นหากโจทก์จะฟ้องร้องให้จำเลยรับผิดต้องฟ้องในมูลหนี้ตามเช็คนับแต่วันครบกำหนดชำระเงินตามเช็คแต่ละฉบับซึ่งมีกำหนดอายุความ 1 ปี หากโจทก์จะฟ้องร้องให้ผู้มีชื่อหรือจำเลยรับผิดในมูลหนี้จากการซื้อขายสินค้า และถ้าจำเลยต้องรับผิดชอบแทนผู้มีชื่อในมูลหนี้การซื้อขายสินค้า โจทก์ต้องฟ้องร้องให้จำเลยรับผิดภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ของการซื้อสินค้าแต่ละครั้ง ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ ความจริงในเอกสารดังกล่าวจำเลยเพียงแต่ลงชื่อเท่านั้น ไม่ได้กรอกข้อความอันใดไว้ โจทก์กรอกข้อความต่างๆ โดยจำเลยไม่รู้เห็นยินยอมหรืออนุญาต เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ แม้จำเลยจะทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้อง แต่จำเลยลงลายมือชื่อโดยไม่ประสงค์ผูกพันในหนังสือดังกล่าว เหตุที่จำเลยต้องลงลายมือชื่อเพราะถูกข่มขู่จากโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามหนังสือดังกล่าวขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 264,494.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 235,544 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 สิงหาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุราษฎร์ธานี จำนวน 9 ฉบับ รวมเป็นเงิน 230,888 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์ ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 9 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.4 โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ค่าสินค้าดังกล่าว จำเลยไม่ชำระ แต่ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ตกลงจะชำระให้เสร็จก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2543 ตามเอกสารหมาย จ.1 พร้อมคำแปล ภายหลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนจำนวน 26,928 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้สั่งซื้อสินค้า นางสาวพัชรียาพี่สาวจำเลยเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าไปจากโจทก์ แต่ให้จำเลยเป็นผู้ชำระหนี้ค่าสินค้าแทนโดยการออกเช็คพิพาททั้ง 9 ฉบับ จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามเช็คพิพาทดังกล่าว โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายในอายุความของเช็คแต่ละฉบับ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในการซื้อขายสินค้าโจทก์ติดต่อกับนางสาวพัชรียา ส่วนจำเลยมีหน้าที่ดูแลสินค้าในร้าน นางสาวพัชรียาพยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ร้านเจริญภัณฑ์ดำเนินธุรกิจร่วมกับบรรดาพี่น้องรวมทั้งจำเลยด้วย เมื่อพิจารณาประกอบกับใบส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์ออกให้แก่ร้านเจริญภัณฑ์แล้วน่าเชื่อว่า จำเลยและนางสาวพัชรียากับบรรดาพี่น้องต่างตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการของร้านเจริญภัณฑ์ร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์แบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน จึงเข้าลักษณะสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 การที่นางสาวพัชรียาสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์และจำเลยได้ออกเช็คพิพาททั้ง 9 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าและทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 แก่โจทก์ดังกล่าวเป็นการดำเนินการในฐานะหุ้นส่วนของร้านเจริญภัณฑ์ อันเป็นไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆ ด้วยและจะต้องรับผิดร่วมกับหุ้นส่วนคนอื่นๆ โดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1050 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 ยอมรับว่ามียอดหนี้ค้างชำระสำหรับการสั่งซื้อสินค้าระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนตุลาคม 2542 เป็นการรับสภาพหนี้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่สั่งซื้อสินค้าในแต่ละครั้งเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่อายุความสะดุดหยุดลง คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้เข้าไปในร้านแล้วเอาเท้าวางไว้บนโต๊ะพูดจากับลูกค้าภายในร้านของจำเลยว่าสินค้าในร้านไม่มีคุณภาพ และบอกร้านค้าใกล้เคียงว่าจำเลยเป็นหนี้แล้วไม่ชำระเป็นการข่มขู่ที่ทำให้จำเลยต้องลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ หนังสือรับสภาพนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ การข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัวซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้นการนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น” แม้หากว่าโจทก์กระทำการดังที่จำเลยฎีกาก็ตามก็เป็นเพียงการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ ด้วยพฤติการณ์และการกระทำที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น หาได้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการข่มขู่ตามที่จำเลยฎีกาไม่ นอกจากนี้จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ก่อนทำบันทึกตามเอกสารหมาย จ.1 ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับยอดหนี้คงเหลือที่ค้างชำระครบถ้วนแล้ว จึงทำบันทึกตามเอกสารหมาย จ.1 ขึ้น การที่โจทก์และจำเลยได้พูดคุยกันก่อนที่จะทำหนังสือรับสภาพหนี้และจำนวนหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ก็ตรงกับจำนวนเงินตามเช็คพิพาททั้ง 9 ฉบับที่จำเลยได้สั่งจ่ายชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ขึ้นด้วยความสมัครใจของจำเลย มิได้เกิดจากการข่มขู่ตามที่จำเลยอ้างแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 1,000 บาท

Share