แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย โจทก์อ้าง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 3 และมาตรา 7 มาในคำขอท้ายฟ้อง ซึ่งตามมาตรา 3 และมาตรา 7 แห่งบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดโทษผู้กระทำผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายโดยมีระวางโทษเท่ากับความผิดสำเร็จ และความผิดฐานดังกล่าวมีอัตราโทษหนักกว่าความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเฮโรอีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 100 กรัม การที่ศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 7 แต่ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเฮโรอีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 100 กรัม โดยกล่าวว่าเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดนั้น เป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และริบยาเสพติดให้โทษของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 65 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเฮโรอีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 100 กรัม ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ลงโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกตลอดชีวิต ริบยาเสพติดให้โทษของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบากว่าที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาหรือไม่ เห็นว่า เฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษซึ่งมีพิษร้ายแรง นอกจากจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพอนามัยของผู้เสพเองแล้วยังเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมและก่อให้เกิดปัญหาสังคมในด้านต่าง ๆ อีกสุดคณานับ จำเลยกระทำความผิดโดยมีเฮโรอีนเป็นจำนวนมากถึง 5 ห่อ น้ำหนัก 3,479 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 3,043.777 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และพยายามส่งเฮโรอีนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ลักษณะของความผิดนับว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติและบั่นทอนความสงบสุขของประชาคมโลกโดยส่วนรวม ทั้งยังสร้างความเสื่อมเสียแก่ภาพพจน์และชื่อเสียงของประเทศไทยต่อนานาประเทศทั่วโลกอีกด้วย จำเลยเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร แทนที่จะมีความเคารพยำเกรงต่อกฎหมายประเทศไทย กลับกระทำความผิดในคดีนี้โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมโดยส่วนรวม พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษประหารชีวิตจำเลยและลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกตลอดชีวิตนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนนอกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายโจทก์อ้างพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 และมาตรา 7 มาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว ซึ่งตามมาตรา 3 และมาตรา 7 แห่งบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดโทษผู้กระทำผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายโดยมีระวางโทษเท่ากับความผิดสำเร็จและความผิดฐานดังกล่าวมีอัตราโทษหนักกว่าความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเฮโรอีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 100 กรัม ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 แต่ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเฮโรอีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 100 กรัม โดยกล่าวว่าเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดนั้นเป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และแม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 65 วรรคสอง ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 65 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษประหารชีวิต ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์