คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2621/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิในการดำเนินคดีทางศาลเป็นสิทธิโดยชอบของบุคคลตามกฎหมายในเมื่อสิทธิของตนถูกโต้แย้งหรือมีกรณีจะต้องใช้สิทธิทางศาลการที่พินัยกรรมมีข้อกำหนดห้ามทายาทผู้ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมฟ้องคดีต่อศาลเกี่ยวกับทรัพย์ตามพินัยกรรม มิฉะนั้นให้ถือว่าผู้นั้นถูกตัดออกจากกองทรัพย์สินนั้น เช่นนี้ ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงไม่เป็นการกระทำที่ต้องถูกตัดมิให้รับมรดก การฟ้องขอถอนผู้จัดการมรดกและขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกใหม่นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 มิได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องร้องเข้ามาในคดีเดิม ดังนั้น โจทก์จึงอาจฟ้องเป็นคดีใหม่หรือร้องเข้ามาในคดีเดิมก็ได้ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จึงมีหน้าที่จะต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ยังไม่มีการแบ่งปันมรดกให้ทายาทเลย อีกทั้งยังได้จำหน่ายทรัพย์มรดกบางส่วนไปโดยมิได้ประชุมปรึกษาทายาท รวมทั้งไม่มีบัญชีแสดงให้ทายาททราบถึงการที่ได้จัดการไป และหลังจากที่ได้เป็นผู้จัดการมรดกแล้วถึง 4 ปีเศษจึงได้ยื่นบัญชีทรัพย์มรดก แสดงว่าจำเลยไม่นำพาต่อหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1729 และ 1732 จึงมีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรม จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียข้อคัดค้านของจำเลยที่จะไม่ให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เจ้ามรดกทำพินัยกรรมระบุให้โจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน เมื่อโจทก์ที่ 1 ถอนฟ้อง ส่วนผู้ร้องสอดที่ 1 ถูกโต้แย้งว่า ได้นำทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งไปจำหน่าย ถือได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 1 มีข้อที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก กรณีเห็นได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 1 ไม่อาจเข้าร่วมจัดการเพื่อประโยชน์ของกองมรดกโดยไม่มีข้อขัดแย้งได้ ตามพฤติการณ์จึงไม่อาจตั้งผู้ร้องสอดที่ 1ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกกับโจทก์ที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 2 ได้ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ต่อมาศาลมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกแทน ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยส่งมอบบัญชีทรัพย์มรดกที่จำเลยทำขึ้นในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกให้ผู้จัดการมรดกคนใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบุตรของเจ้ามรดกเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้โจทก์ทั้งสองกับนางวลี เทพหัสดิน ณ อยุธยา และนางสุวลัย จันทวานิช บุตรของเจ้ามรดกต่างมารดากับโจทก์ และกำหนดให้บุตรทั้งสี่คนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งจนปัจจุบันจำเลยละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ ไม่ยอมแบ่งปันทรัพย์มรดก แต่เบียดบังยักยอกไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวของตนและบุตร โจทก์ทั้งสองมีคุณสมบัติเป็นผู้จัดการมรดกได้ ขอให้ศาลเพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและมีคำสั่งตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน ให้จำเลยส่งมอบหลักฐานทรัพย์มรดกและทำบัญชีทรัพย์มรดกที่ได้โอนขายให้แก่บุคคลอื่นโดยทุจริตทั้งก่อนและหลังฟ้องคดีนี้ด้วย
จำเลยให้การว่า ตามพินัยกรรมมีข้อกำหนดห้ามฟ้องร้องทำคดีขึ้นโรงศาล หากไม่เชื่อให้หมดสิทธิถูกตัดออกจากกองทรัพย์มรดกโจทก์ทั้งสองจึงต้องถูกตัดมิให้รับมรดกแล้วจำเลยมีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป หากศาลเห็นสมควรเปลี่ยนแปลงก็ต้องตั้งบุตรทั้งสี่เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยส่งมอบหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์มรดก และให้จำเลยทำบัญชีทรัพย์มรดกที่จำหน่ายจ่ายโอนไปโดยมิชอบ ขอให้ยกฟ้อง
นางวลีและนางสุวลัยร้องสอดเข้ามาว่า จำเลยเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก หากจะเปลี่ยนแปลงก็ขอได้ตั้งผู้ร้องทั้งสองร่วมเป็นผู้จัดการมรดกด้วย
โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดทั้งสองไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ ขอให้ยกคำร้อง
หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว โจทก์ที่ 1 ขอถอนฟ้องศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกโดยให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสว่าง จารุศรผู้วายชนม์ สืบแทน ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้จำเลยมอบหลักฐานส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกตามบัญชีเอกสารหมาย ล.36 แก่โจทก์ให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสอง
จำเลยและผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยและผู้ร้องสอดทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและผู้ร้องสอดทั้งสอง ดังนี้
ปัญหาแรก โจทก์ที่ 2 จะต้องถูกตัดมิให้รับมรดกตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามที่กำหนดในพินัยกรรมที่ว่าถ้าบุตรคนใดที่ได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมฟ้องร้องทำคดีขึ้นโรงศาลเกี่ยวกับทรัพย์ตามพินัยกรรม ให้ถือว่าบุคคลนั้นหมดสิทธิ ถูกตัดออกจากกองทรัพย์สินโดยสิ้นเชิงนั้น เป็นการกำหนดไว้เพื่อมิให้ทายาทใช้สิทธิในทางศาล สิทธิในการดำเนินคดีทางศาลนั้นเป็นสิทธิที่มีอยู่โดยชอบของบุคคลตามกฎหมายในเมื่อสิทธิของตนต้องถูกโต้แย้งหรือมีกรณีที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล จึงไม่มีผลบังคับ การที่โจทก์ที่ 2ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ก็ดีหรือที่ฟ้องจำเลยและผู้ร้องสอดทั้งสองเป็นคดีอาญากล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์มรดกก็ดี จึงไม่เป็นการกระทำที่ต้องถูกตัดมิให้รับมรดก
ปัญหาข้อสองมีว่า โจทก์ที่ 2 จะฟ้องขอให้ถอนผู้จัดการมรดกและขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกเป็นคดีใหม่ได้หรือไม่ เมื่อโจทก์ที่ 2 เห็นว่า จำเลยจัดการมรดกในทางที่ทำให้โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเสียหายก็เป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ก็มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งบทกฎหมายในเรื่องนี้มิได้มีกำหนดไว้ว่าต้องให้ร้องเข้ามาในคดีเดิมและบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 ก็มิได้กำหนดไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องร้องเข้ามาในคดีเดิม โจทก์ที่ 2 จึงอาจฟ้องเป็นคดีใหม่หรือร้องเข้ามาในคดีเดิมก็ได้ การที่โจทก์ที่ 2เลือกเอาวิธีฟ้องเป็นคดีใหม่จึงไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย
ปัญหาข้อสามมีว่า มีเหตุที่จะถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายสว่างหรือไม่ ตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกนั้นจำเลยไม่มีสิทธิในฐานะทายาทที่จะได้รับทรัพย์มรดก การที่จำเลยเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็โดยที่ทายาทที่จะได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมตกลงกันที่จะให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้เพราะเห็นว่าจะจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมให้ทายาทตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมได้ดีกว่าทายาทตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมร่วมกันจัดการ ดังนั้นเมื่อต่อมาโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมคนหนึ่งไม่ไว้วางใจที่จะให้จำเลยซึ่งไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกจัดการอีกต่อไป เช่นนี้จึงต้องนำเหตุนี้มาพิจารณาเป็นข้อประกอบประการหนึ่งในอันที่จะให้จำเลยดำเนินการต่อไปตามที่ตกลงมอบหมายกันไว้แต่เดิมหรือไม่ในชั้นที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้โจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมโดยจำเลยไม่มีส่วนได้และมีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในฐานะที่ตนเป็นผู้จัดการมรดก ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2525 โจทก์ที่ 2 มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28มกราคม 2528 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตั้งแต่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมาจนถึงวันที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดี ทายาทตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมนั้นยังไม่ได้รับการแบ่งปันมรดกจากการจัดการของจำเลยแต่ประการใดการที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี ยังไม่มีการแบ่งปันมรดกให้ทายาทเลยเช่นนี้ เป็นข้อที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยละเลยเพิกเฉยต่อกิจการอันได้รับความยินยอมจากทายาทที่ได้มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่ามรดกรายนี้มีจำนวนมากและมีทรัพย์สินหลายประเภทอยู่ก็ไม่ใช่ข้อที่จะต้องใช้เวลานานเช่นนี้โดยไม่มีการแบ่งปันกันเลย น่าจะมีบางส่วนที่สามารถจะแบ่งปันกันไปในระหว่างทายาทได้บ้าง การที่จำเลยมิได้ทำการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้ทายาทโดยไม่มีเหตุอันสมควรเช่นนี้เป็นข้อที่จะต้องพิจารณาในประการที่สองถึงความเหมาะสมในการที่จำเลยควรจะเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ต่อไปหรือไม่ การจำหน่ายทรัพย์มรดกบางส่วนของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยก็มิได้มีการประชุมปรึกษาทายาท และเมื่อได้จำหน่ายไปแล้วก็มิได้มีบัญชีแสดงให้ทายาทเห็นหรือได้ชี้แจงให้ทายาทได้ทราบถึงการที่ได้จัดการไปจำเลยเองก็กลับเบิกความอีกว่าที่ไม่แจ้งให้ทราบหรือทำบัญชีนั้นเพราะไม่มีทายาทคนใดมาถาม ทำให้เห็นว่าจำเลยจัดการไปเสมือนหนึ่งเป็นการจัดการทรัพย์สินของตนเอง ทั้งที่จำเลยรู้ดีอยู่ว่าที่เข้ามาจัดการในฐานะเช่นนั้นได้ก็เนื่องจากทายาทตามพินัยกรรมมอบหมายให้มาจัดการ กรณีนี้ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งในการที่จะพิจารณาถึงความเหมาะสมในการที่จะให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ต่อไปหรือไม่และในหน้าที่ตามกฎหมายนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1732บัญญัติไว้ให้ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันเป็นผู้จัดการมรดก และจะต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้เสร็จภายใน 1 เดือนนับแต่วันดังกล่าว ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729 จำเลยเพิ่งทำบัญชีทรัพย์มรดกตามเอกสารหมาย ล.36 มายื่นต่อศาลหลังจากที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้แล้วถึง 1 ปีเศษ ข้อที่จำเลยนำสืบว่าเคยให้นายอรรถจัดทำบัญชีแล้วแต่ไม่ได้ส่งศาล ข้อเท็จจริงก็ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2528 ว่าเมื่อศาลสอบถามจำเลยเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์มรดก จำเลยก็แถลงไว้แต่เพียงว่าได้ลงรายการไว้ในสมุดเล่มหนึ่ง โดยมิได้ยืนยันว่ารายการที่ลงไว้ในสมุดนั้นเป็นการทำบัญชีทรัพย์มรดก ทั้งยังมิได้นำสมุดดังกล่าวมาแสดงต่อศาลส่วนที่จำเลยอ้างว่าเคยให้สำนักงานบัญชีทำบัญชีทรัพย์มรดกแล้วแต่บัญชีดูไม่รู้เรื่องจึงให้ทำใหม่นั้น จำเลยก็มิได้แสดงบัญชีที่ทำไว้เดิมต่อศาล คงมีแต่บัญชีตามเอกสารหมาย ล.36 เท่านั้นข้ออ้างของจำเลยในเรื่องลงรายการไว้ในสมุดก็ดี เคยทำบัญชีแต่บัญชีดูไม่รู้เรื่องก็ดีจึงรับฟังไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหลังจากจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้วถึง 4 ปีเศษจำเลยจึงได้ยื่นบัญชีทรัพย์มรดกตามเอกสารหมาย ล.36 การที่จำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในเรื่องนี้ในอันที่จะทำให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยเรียบร้อยและป้องกันปัญหาโต้แย้งระหว่างทายาทได้อีกประการหนึ่ง จึงเป็นข้อที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่นำพาต่อหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะเช่นนี้ เมื่อพิจารณาถึงเหตุอย่างอื่นตามที่กล่าวมาประกอบด้วยแล้วที่ศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาข้อสี่มีว่า โจทก์ที่ 2 สมควรเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้หรือไม่ ในปัญหานี้เมื่อวินิจฉัยในปัญหาข้อสามให้ถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกแล้วและมรดกรายนี้ยังมิได้มีการแบ่งปันระหว่างทายาทตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรม กรณีจึงมีเหตุจำเป็นที่จะต้องมีผู้จัดการมรดกรายนี้ต่อไป ในเมื่อโจทก์ที่ 2 เป็นทายาทคนหนึ่งที่พินัยกรรมกำหนดไว้ให้เป็นผู้รับทรัพย์มรดกและเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ที่ 2 ได้ความว่า โจทก์ที่ 2ไม่เป็นบุคคลซึ่งต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้ร้องสอดทั้งสองก็มิได้คัดค้านในข้อที่โจทก์ที่ 2 จะเป็นผู้จัดการมรดกเพียงแต่คัดค้านว่าไม่สมควรให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการคนเดียวเท่านั้นส่วนข้อคัดค้านของจำเลยในกรณีที่อ้างว่าโจทก์ที่ 2 ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ในเมื่อจำเลยมิได้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามข้อกำหนดในพินัยกรรม จำเลยจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะให้ใครเป็นผู้จัดการมรดก ข้อคัดค้านของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังในเรื่องนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ปัญหาข้อห้าที่ว่า ผู้ร้องสอดทั้งสองสมควรเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ด้วยหรือไม่ ตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกนั้นกำหนดให้โจทก์ทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ซึ่งการตั้งผู้จัดการมรดกนั้นเมื่อมีข้อกำหนดพินัยกรรมกำหนดไว้ ในหลักทั่วไปต้องตั้งตามข้อกำหนดในพินัยกรรม เว้นแต่เป็นกรณีมีเหตุที่ไม่อาจตั้งตามข้อกำหนดในพินัยกรรมได้ปรากฏให้เห็น สำหรับกรณีของโจทก์ที่ 1นั้นได้ถอนฟ้องไป ไม่ประสงค์ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามที่ฟ้องกรณีต้องถือตามความประสงค์ของโจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจตั้งตามข้อกำหนดในพินัยกรรมได้ โจทก์ที่ 2 นั้นได้วินิจฉัยในข้อสี่ให้เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้แล้ว ส่วนผู้ร้องสอดทั้งสองนั้นจะได้พิจารณาไปแต่ละคน สำหรับผู้ร้องสอดที่ 1 นั้น ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการนำสืบของโจทก์ที่ 2 และผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ความว่ายังมีกรณีที่เป็นข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าที่ดินที่จังหวัดภูเก็ตประมาณ352 ไร่นั้นเป็นทรัพย์มรดกหรือเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องสอดที่ 1ข้อโต้แย้งของผู้ร้องสอดที่ 1 เช่นนี้ เห็นได้ว่าเป็นปรปักษ์ต่อกองมรดก เมื่อผู้ร้องสอดที่ 1 มีข้อที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกในจำนวนทรัพย์สินที่มีราคามิใช่น้อยเช่นนี้ การที่จะให้ผู้ร้องสอดที่ 1 เข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ที่ 2 จึงเป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 ไม่อาจจะเข้าร่วมจัดการเพื่อประโยชน์ของกองมรดกได้ โดยไม่มีข้อขัดแย้งกับโจทก์ที่ 2 กรณีจึงมีพฤติการณ์ที่ไม่อาจตั้งผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาส่วนนี้ชอบแล้วสำหรับผู้ร้องสอดที่ 2 นั้นในพินัยกรรมกำหนดให้เป็นผู้ร่วมจัดการมรดกด้วยคนหนึ่ง ข้อเท็จจริงจากการนำสืบได้ความว่า ผู้ร้องสอดที่ 2ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะมิให้เป็นผู้จัดการมรดกข้อที่โจทก์ที่ 2 นำสืบมาว่า ผู้ร้องสอดที่ 2 ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกก็คือการที่ผู้ร้องสอดที่ 2 รับโอนหุ้นของบริษัทต่าง ๆที่เป็นชื่อของเจ้ามรดกอยู่เดิมอันเป็นการยักยอกทรัพย์มรดกซึ่งข้อเท็จจริงในเรื่องการโอนหุ้นมาเป็นชื่อของผู้ร้องสอดที่ 2นี้ได้ความตามคำของผู้ร้องสอดที่ 2 และนายอรรถซึ่งเป็นคนใกล้ชิดกับเจ้ามรดกว่าโอนมาตามคำสั่งของเจ้ามรดก และผู้ร้องสอดที่ 2 เองก็เบิกความรับว่า หุ้นที่โอนมาเป็นชื่อของผู้ร้องสอดที่ 2 นั้นยังเป็นทรัพย์มรดกอยู่ ต่อไปจะโอนให้ใครอย่างไรผู้ร้องสอดก็ไม่ขัดข้อง และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องสอดที่ 2ได้จำหน่ายจ่ายโอนหุ้นที่ตนรับโอนมาแต่อย่างใด กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 2 ได้ยักยอกทรัพย์มรดกในส่วนนี้ ปรากฏว่ามรดกรายนี้มีเป็นจำนวนมากและมีอยู่ในที่ต่าง ๆ รวมทั้งในชื่อของบุคคลอื่น ๆอีกด้วย ผู้ร้องสอดที่ 2 นั้นรู้เห็นและทราบเรื่องในรายละเอียดของทรัพย์มรดกดีกว่าโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 เองนั้นตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับทรัพย์มรดกรายนี้ดีนัก ทั้งเมื่อได้พิจารณาถึงความเหมาะสมที่จะให้ผู้ร้องสอดที่ 2ร่วมกับโจทก์ที่ 2 ในการเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้แล้ว จึงเห็นว่าผู้ร้องสอดที่ 2 สมควรที่จะเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ที่ 2 ได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องของ ผู้ร้องสอดที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
สำหรับปัญหาประการสุดท้ายมีว่า ศาลจะมีอำนาจบังคับให้จำเลยส่งมอบบัญชีทรัพย์มรดกเอกสารหมาย ล.36 ได้หรือไม่ เห็นว่าเมื่อศาลมีคำสั่งถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งโจทก์ที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว เอกสารหมาย ล.36 นั้น จำเลยก็รับว่าเป็นบัญชีทรัพย์มรดกที่จำเลยทำขึ้นในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกเช่นนี้ ศาลก็มีอำนาจที่จะบังคับให้จำเลยส่งมอบบัญชีทรัพย์มรดกให้ผู้จัดการมรดกคนใหม่ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องสอดที่ 2 และโจทก์ที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายสว่าง จารุศร โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share