คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เกิดเหตุเวลากลางวันก่อนเกิดเหตุพยานโจทก์ทั้งสามเห็นจำเลยทั้งสามยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามปากซอย ห่างประมาณ 15 เมตร และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ชักอาวุธปืนจ้องมาที่ผู้เสียหายห่างตัวผู้เสียหายประมาณ 7 นิ้ว พร้อมกับพูดว่าจะเอาสร้อยถ้า หากไม่ให้จะยิง แล้วจำเลยที่ 2 ดึง สร้อยคอทองคำของผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1 ดึง กระเป๋าเงินของผู้เสียหายไปและพากันวิ่งหนีขึ้นรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 3 ยืนอยู่หลบหนีไป พยานโจทก์ย่อมมีโอกาสเห็นหน้าจำเลยที่ 2 อย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานพอสมควรและเมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความก็ให้การยืนยันว่านอกจากจำเลยที่ 1ซึ่งถูกจับกุมตัวแล้วพยานยังจำคนร้ายอีกสองคนได้ โดยระบุตำหนิ รูปพรรณของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 มาได้ พยานก็ชี้ ตัวว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายเช่นนี้พยานหลักฐานโจทก์มั่นคงเพียงพอรับฟัง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดต่อกฎหมายโดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2530 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2มีอาวุธปืนสั้นขนาด .38 ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงาน 1 กระบอกไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ทั้งไม่ใช่กรณีต้องมีติดตัวเพราะมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันมีอาวุธปืนและใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อปล้นทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก1 สลึง 1 เส้น ราคา 1,500 บาท เงินสด 500 บาท รวมราคา 2,000บาท ของนางชะอ้อน รัตนพันธ์ ผู้เสียหาย โดยในการปล้นทรัพย์ จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายว่าทันใดจะยิงประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายหากต่อสู้ขัดขืน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไปเพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นเพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ และเพื่อให้พ้นจากการจับกุมแล้วจำเลยทั้งสามได้ใช้รถจักรยานยนต์ดังกล่าวเป็นพาหนะพาทรัพย์นั้นไปและเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2530 เวลากลางคืน จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนสั้นขนาด .38 ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงาน 1 กระบอก กระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 1 นัดไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ เหตุเกิดที่ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340ตรี, 371, 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8ทวิ, 72,72ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ริบของกลาง นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1643/2530 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่1603/2531 ของศาลชั้นต้น กับนับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2171/2530 คดีอาญาหมายเลขแดงที่1603/2531 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง 340ตรี, 83,91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ14, 15 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 กับจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371, 90 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 เรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แล้ว ฐานปล้นทรัพย์ให้จำคุกคนละ 18 ปีฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองจำคุกคนละ 1 ปี สำหรับจำเลยที่ 2 ความผิดฐานพกพาอาวุธปืนลงโทษบทหนัก ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 จำคุกจำเลยที่ 2 ข้อหานี้ 6 เดือน รวมแล้วลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 19 ปี จำเลยที่ 2 จำคุก 19 ปี 6 เดือน คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสามแล้ว คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 12 ปี 8 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1643/2531 (ที่ถูก1643/2530) และโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1603/2531 ของศาลชั้นต้นของกลางริบ ยกฟ้องจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง (ที่แก้ไขแล้ว) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นางเอี้ยนและเด็กชายประสานมาเบิกความได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุเวลาประมาณ 15นาฬิกา ก่อนที่พยานทั้งสามจะเดินเลี้ยวเข้าซอยเข้าบ้าน เห็นชาย 3 คนคนหนึ่งนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ อีกสองคนยืนอยู่ข้าง ๆ พยานทั้งสามเดินเข้าไปในซอยได้ประมาณ 30 เมตร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นชายสองในสามคนที่เห็น ตอนแรกเดินตามมาร้องเรียกให้หยุด จำเลยที่ 2 ถามผู้เสียหายว่าสนามบ้านไร่อยู่ไหน ผู้เสียหายตอบว่าไม่ทราบจำเลยที่ 2 ชักอาวุธปืนสั้นจ้องมาทางผู้เสียหาย กับดึงสร้อยคอและจำเลยที่ 1 ดึงกระเป๋าเงินไปจากผู้เสียหาย แล้วพากันวิ่งหนีไปที่รถจักรยานยนต์ซึ่งจำเลยที่ 3 ยืนอยู่ ซ้อนท้ายขับย้อนมาทางอำเภอหาดใหญ่หลบหนีไป ต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2530 ผู้เสียหายเด็กชายประสาน และนายแก้ว รัตนพันธ์ บิดาของผู้เสียหายได้ไปที่ตลาดบ้านพรุพบจำเลยที่ 1 นั่งขายปลา จำได้ว่าเป็นคนร้าย นายแก้วไปแจ้งความและนำจ่าสิบตำรวจชนะ หน่อแก้ว มาจับกุมจำเลยที่ 1ส่งให้ร้อยตำรวจตรีพยู ชนะศรีสืบวงศ์ พนักงานสอบสวน จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพและพาร้อยตำรวจตรีอำพล บัวรับพร และจ่าสิบตำรวจชนะไปค้นบ้านจำเลยที่ 1 พบอาวุธปืนสั้นขนาด .38 ไม่มีหมายเลขทะเบียน1 กระบอก ร้อยตำรวจตรีพยูให้ผู้เสียหาย เด็กชายประสานและนางเอี้ยนไปดูตัวจำเลยที่ 1 ต่างชี้ยืนยันว่าเป็นคนร้ายต่อมาจำเลยที่ 1 พาร้อยตำรวจตรีอำพลไปจับกุมจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เสียหายเด็กชายประสานและนางเอี้ยนดูตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วต่างชี้ยืนยันว่าเป็นคนร้ายเห็นว่า เวลาเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน ก่อนเกิดเหตุพยานโจทก์ทั้งสามเห็นจำเลยทั้งสามยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามปากซอยห่างประมาณ 15 เมตร และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ชักอาวุธปืนจ้องมาที่ผู้เสียหายห่างตัวผู้เสียหายประมาณ 7 นิ้ว พร้อมกับพูดว่า จะเอาสร้อยถ้าหากไม่ให้จะยิง แล้วจำเลยที่ 2 ดึงสร้อยคอทองคำของผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1 ดึงกระเป๋าเงินของผู้เสียหายไป และพากันวิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 3 ยืนอยู่หลบหนีไป พยานโจทก์ย่อมมีโอกาสเห็นหน้าจำเลยที่ 2 อย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานพอสมควรในระหว่างที่พูดโต้ตอบกันอยู่ และเมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความพยานโจทก์ทั้งสามต่างให้การยืนยันว่า นอกจากจำเลยที่ 1 ซึ่งถูกจับกุมตัวแล้ว พยานยังจำคนร้ายอีกสองคนได้ โดยระบุตำหนิรูปพรรณของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไว้ และเมื่อตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 มาได้พยานโจทก์ทั้งสามก็ชี้ตัวจำเลยที่ 2 ว่าเป็นคนร้ายได้ถูกต้อง ตามบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหา และภาพถ่ายประกอบบันทึกเอกสารหมาย จ.5,จ.7 และ จ.10 นอกจากนี้ยังมีจ่าสิบตำรวจชนะ ผู้จับกุมจำเลยที่ 1มาเบิกความว่า หลังจากจับกุมจำเลยที่ 1 ได้แล้ว ผู้เสียหายบอกว่าจำหน้าคนร้ายได้ทั้งสามคน พยานโจทก์ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อนจึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 คดีจึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องข้อนำสืบอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ไม่พอฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าผู้เสียหาย เด็กชายประสานและนางเอี้ยน เบิกความขัดกันในข้อสาระสำคัญ เห็นว่าผู้เสียหายและนางเอี้ยนต่างก็เบิกความว่าจำเลยที่ 2 ดึงสร้อยคอ จำเลยที่ 1 ดึงกระเป๋าเงิน พยานโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ขัดกัน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2 ฎีกาว่านายแก้ว รัตนพันธ์ บิดาของผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายบอกว่าจำคนร้ายไม่ได้จึงไม่ให้ไปแจ้งความเห็นว่า นายแก้วได้มาเบิกความเป็นพยานให้จำเลยที่ 2 ว่าผู้เสียหาย นางเอี้ยน และเด็กชายประสารกลับมาจากตลาดบอกว่าถูกปล้น ถามว่ารู้จักหรือไม่ ผู้เสียหายว่าไม่รู้จัก และถามว่าจำหน้าคนร้ายได้หรือไม่ พวกผู้เสียหายว่าจำไม่ได้ แต่จำได้อยู่คนหนึ่งคือที่เข้าไปเอาสร้อย ส่วนอีกคนหนึ่งจำไม่ได้ จากคำของนายแก้วดังกล่าวฟังได้ว่า ผู้เสียหายจำได้อยู่คนหนึ่งก็คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคนเข้าไปเอาสร้อยนั่นเอง ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จากคำเบิกความของผู้เสียหาย นางเอี้ยนและเด็กชายประสานไม่ปรากฏชัดว่า มีคนร้าย 3 คน หรือไม่คงมีเพียง2 คน ตามที่ศาลลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานปล้นทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามต่างก็เบิกความว่าคนร้ายมี 3 คน แต่พยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นที่สงสัยว่าจำเลยที่ 3 จะร่วมกระทำความผิดด้วยหรือไม่ศาลจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 3 มิได้ฟังว่าคนร้ายมีเพียง 2 คน ดังจำเลยที่ 2 ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.

Share