คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2619/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคสองโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ก็เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะเอาค่าสินไหมทดแทน มิใช่ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร การที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 จึงมิใช่เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ กรณีมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรฯมาตรา 7(2).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน 253,790.69 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ และจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีอากรให้โจทก์ตามฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์ฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ให้รับผิดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 1169 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คดีไม่อยู่ในอำนาจศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรจำนวน 253,790.69 บาท แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 กรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ได้ยักยอกเงินของจำเลยที่ 1 และนำเงินสดของจำเลยที่ 1 ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนและลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กู้ยืมโดยไม่มีหลักประกันแล้วละเลยไม่ติดตามทวงถามเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย โจทก์เป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์คงมีเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 นั้น เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 กรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ทำให้เกิดเสียหายแก่จำเลยที่ 1 แม้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169วรรคสอง โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยที่ 2 ได้เท่าที่โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 1 อยู่ก็ตาม ก็เป็นเพียงสิทธิเรียกร้องที่จะเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 เท่านั้น มิใช่เป็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรที่มีต่อจำเลยที่ 2แต่ประการใด ดังนั้น ปัญหาที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่จำเลยที่ 2 เช่นนี้จึงมิใช่เป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์โดยตรง คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(2)โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลภาษีอากรกลางได้…”
พิพากษายืน.

Share