คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2619/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่พนักงานสอบสวนสั่งปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวโดยกำหนดจำนวนเงินให้นายประกันต้องรับผิดชดใช้เมื่อมีการผิดสัญญาประกันเกินจำนวนเงินตามเช็ค อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 5(2) นั้นเป็นแต่เพียงการกระทำที่เกินอำนาจพนักงานสอบสวน ใช้บังคับนายประกันได้เพียงเท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้คือตามจำนวนเงินในเช็คไม่ทำให้สัญญาประกันมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวนายจรินทร์หรือบาเรอซิงวงศ์คัมภีร์ ผู้ต้องหาในคดีออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หากผิดสัญญาประกันจำเลยยอมใช้เงิน 150,000 บาท ต่อมาจำเลยไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่โจทก์อันเป็นการผิดสัญญาประกัน โจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาแต่จำเลยไม่ยอมชำระ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี

จำเลยให้การว่า เช็คที่ผู้ต้องหาสั่งจ่ายมีจำนวนเงินเพียง 50,000 บาทหรือ 51,000 บาท เท่านั้น การที่โจทก์กำหนดจำนวนเงินประกันถึง 150,000บาท เป็นการผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค โจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง จำเลยได้เสียค่าพาหนะและค่าใช้จ่ายในการติดตามตัวผู้ต้องหาเป็นเงินประมาณ 20,000 บาท ถ้าศาลจะปรับ ก็ขอให้ปรับจำเลยในอัตราที่ต่ำที่สุดด้วย

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาที่จำเลยทำกับโจทก์ต้องห้ามชัดแจ้งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 5(2) จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แต่ส่วนของนิติกรรมที่มีจำนวนเงินไม่เกินจำนวนเงินในเช็ค แยกออกได้จากส่วนที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 135 จำเลยจึงรับผิดต่อโจทก์เพียง 51,000 บาท พิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 51,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาประกันตกเป็นโมฆะกรรมทั้งสิ้นพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 5(2) ที่บัญญัติว่า ถ้าผู้ต้องหายื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสั่งปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือหลักประกันไม่เกินจำนวนเงินตามเช็คนั้น บทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อจำกัดอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการซึ่งมีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112 ในอันที่จะกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรให้นายประกันชดใช้เมื่อมีการผิดสัญญาประกันโดยให้พนักงานสอบสวนพร้อมพนักงานอัยการกำหนดจำนวนเงินที่นายประกันจะต้องชดใช้เมื่อมีการผิดสัญญาประกันเพียงไม่เกินจำนวนเงินตามเช็คในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คการที่พนักงานสอบสวนสั่งปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวโดยกำหนดให้นายประกันใช้เงิน 150,000 บาท เมื่อมีการผิดสัญญาประกัน ซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินตามเช็คนั้น เป็นแต่เพียงการกระทำที่เกินอำนาจของพนักงานสอบสวน จึงใช้บังคับนายประกันได้เพียงเท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้คือตามจำนวนเงินในเช็ค สัญญาประกันไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันจะทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะทั้งหมดหรือบางส่วนดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย

พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share