คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2554

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พนักงานเจ้าหน้าที่ของเทศบาลจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายสำหรับกรณีสถานีบริการน้ำมันประจำปี 2545 ถึงปี 2548 ครั้งแรก ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 จำนวน 4 ฉบับ และยังไม่มีการยกเลิกการประเมิน เมื่อโจทก์ไม่พอใจย่อมมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อนายกเทศมนตรีจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 30 ได้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินภาษีป้ายครั้งแรกในรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเฉพาะในส่วนที่มีเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย และป้ายราคาน้ำมันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินให้เสียภาษีป้ายปีละ 366 บาท แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ที่วินิจฉัยให้ยกเว้นไม่ต้องประเมินภาษีป้ายในส่วนที่มีภาพเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย และให้เรียกเก็บภาษีป้ายในส่วนที่มีข้อความ “ESSO” และป้ายราคาน้ำมันเพิ่มเติมจากโจทก์ และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายครั้งที่สอง ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ให้เรียกเก็บภาษีตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 จำนวน 4 ฉบับ ดังกล่าว ก็ต้องถือว่าโจทก์ยังมีความรับผิดในหนี้ค่าภาษีตามการประเมินในส่วนที่ไม่มีการยกเว้นตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์และไม่มีเหตุที่จะทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ต้องเสียไป โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 33
ป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันในส่วนที่แสดงราคาน้ำมันเป็นป้ายที่แสดงประเภท ชนิด และราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าควบคุม ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 55) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อย การออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร และการเก็บรักษารายงานตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากรข้อ 7 กับประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 200 พ.ศ.2535 เรื่อง ให้ผู้จำหน่ายปลีกแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าควบคุม ลงวันที่ 10 กันยายน 2535 และฉบับที่ 249 พ.ศ.2541 ลงวันที่ 23 เมษายน 2541 จึงไม่ใช่ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 6 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายในส่วนนี้ แม้ในส่วนที่แสดงราคาน้ำมันจะอยู่ใต้ส่วนที่มีข้อความ “ESSO” และอยู่ในโครงสร้างเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อป้ายในส่วนนี้ไม่ใช่ป้ายตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 6 จึงไม่อาจนำไปคำนวณรวมกับป้ายในส่วนที่มีข้อความ “ESSO” เพื่อประเมินให้เสียภาษีป้ายได้อีก การประเมินให้เสียภาษีป้ายในป้ายราคาน้ำมันและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่วินิจฉัยให้เสียภาษีป้ายในป้ายราคาน้ำมันและเปลี่ยนแปลงขนาดป้ายจึงไม่ชอบ
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกเว้นไม่ต้องประเมินภาษีป้ายในส่วนของเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย ทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดค่าภาษีตามการประเมินในส่วนนี้ แต่คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้คืนเงินในส่วนนี้ให้แก่โจทก์แต่กลับนำเงินในส่วนนี้ไปหักออกจากค่าภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มเติมซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินในกรณีที่โจทก์ได้ชำระภาษีตามการประเมินภาษีในรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันในส่วนที่มีภาพเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย และป้ายราคาน้ำมันให้เสียภาษีป้ายรวม 4 ปีภาษี พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดเดิมใช้ชื่อว่าบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มีจำเลยที่ 2 เป็นนายกเทศมนตรี เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2548 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายที่ติดตั้งบริเวณสถานีบริการน้ำมันของโจทก์เลขที่ 50/1192 หมู่ที่ 9 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ประจำปี 2545 ถึงปี 2548 โดยการประเมินในครั้งแรก เป็นเงิน 11,566 บาท 8,126 บาท 8,126 บาท และ 4,806 บาท ตามลำดับ และมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายที่ติดตั้งบริเวณสถานีบริการน้ำมันของโจทก์เลขที่ 123 หมู่ที่ 3 ถนนติวานนท์ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ประจำปี 2545 ถึงปี 2548 เป็นเงิน 34,060 บาท 35,600 บาท 34,720 บาท และ 19,080 บาท ตามลำดับโจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าวจึงอุทธรณ์การประเมินสำหรับสถานีบริการน้ำมันทั้งสองแห่งเฉพาะรายการป้ายที่มีภาพเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย และป้ายราคาน้ำมัน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2549 จำเลยที่ 2 ได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์สำหรับสถานีบริการน้ำมันทั้งสองแห่งฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ว่า สำหรับรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 ให้ยกเว้นไม่ต้องประเมินภาษีป้ายในส่วนที่เป็นของกิจการอื่นที่ได้ยื่นชำระภาษีป้ายไว้แล้ว และในส่วนของเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย แต่ป้ายในส่วนที่มีข้อความ “ESSO” และป้ายราคาน้ำมันไม่อาจแยกออกจากกันได้เนื่องจากติดตั้งอยู่บนโครงสร้างเดียวกันจึงต้องประเมินภาษีป้ายทั้งโครงสร้าง แต่การประเมินครั้งแรกไม่ตรงตามข้อเท็จจริงจึงต้องประเมินใหม่เป็นป้ายประเภทที่ 2 ในปี 2545 และปี 2546 ใช้ขนาดกว้าง 286 เซนติเมตร ยาว 874 เซนติเมตร ปีละ 2 ป้าย (ด้านหน้าและด้านหลัง) ในปี 2547 และปี 2548 ใช้ขนาดกว้าง 250 เซนติเมตร ยาว 432 เซนติเมตร ปีละ 2 ป้าย (ด้านหน้าและด้านหลัง) คำนวณเป็นภาษีป้ายประจำปี 2545 ถึงปี 2548 เป็นเงิน 20,000 บาท 20,000 บาท 8,640 บาท และ 8,640 บาท ตามลำดับ รวม 57,280 บาท แต่โจทก์ได้ชำระค่าภาษีป้ายตามการประเมินในป้ายรายการนี้ไว้แล้วเป็นเงิน 16,504 บาท จึงต้องจ่ายเพิ่มเป็นเงิน 40,776 บาท สำหรับสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 123 ให้แก้ไขการประเมินโดยลดขนาดป้ายในส่วนเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่ายออกคงเหลือขนาดป้ายกว้าง 107 เซนติเมตร ยาว 172 เซนติเมตร คำนวณเป็นภาษีป้ายประจำปี 2545 ถึงปี 2548 เป็นเงินปีละ 400 บาท รวม 1,600 บาท แต่โจทก์ได้ชำระค่าภาษีป้ายตามการประเมินไว้แล้วเป็นเงิน 7,360 บาท จำเลยที่ 1 ต้องคืนภาษีให้แก่โจทก์เป็นเงิน 5,760 บาท จึงนำส่วนนี้มาหักออกจากกรณีที่โจทก์ต้องจ่ายเพิ่มสำหรับสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าภาษีป้ายเพิ่มเป็นเงิน 35,016 บาท โจทก์เห็นว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่เปลี่ยนแปลงขนาดและประเภทของป้ายเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากที่โจทก์อุทธรณ์โดยไม่ผ่านขั้นตอนการประเมิน ป้ายที่มีเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย และป้ายราคาน้ำมันเป็นป้ายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องจัดทำตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ใช่ป้ายที่ต้องชำระภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 6 ส่วนป้ายที่มีข้อความ “ESSO” เป็นป้ายที่สามารถแยกส่วนจากป้ายราคาน้ำมันได้และมีขนาดกว้าง 188 เซนติเมตร ยาว 250 เซนติเมตร คิดเป็นพื้นที่ 47,000 ตารางเซนติเมตร สำหรับรายการป้ายที่ติดตั้งหน้าสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 123 เป็นป้ายที่ไม่มีชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และเป็นป้ายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องจัดทำตามกฎหมายกำหนด จึงไม่ใช่ป้ายที่ต้องชำระภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 6 ดังนั้น เมื่อหักค่าภาษีป้ายที่มีข้อความ “ESSO” แล้วจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินค่าภาษีสำหรับสถานีบริการน้ำมันทั้งสองแห่งให้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 51,064 บาท ขอให้เพิกถอนหรือแก้ไข หนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 41/49, 40/49, 39/49, 39/49, 27/49, 34/49, 29/49 และ 28/49 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 51,064 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สำหรับรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 เป็นป้ายที่มีข้อความ “ESSO” และเป็นป้ายราคาน้ำมันมีการคำนวณพื้นที่ป้ายตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 และเป็นป้ายที่ไม่อาจแยกจากกันได้เพราะติดตั้งอยู่บนโครงสร้างเดียวกัน การคิดคำนวณภาษีจึงต้องคิดคำนวณทั้งโครงสร้างและเป็นป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศนอกจากนี้ป้ายราคาน้ำมันของสถานีบริการทั้งสองแห่งเป็นป้ายที่ใช้ในทางการค้าหรือโฆษณาการค้าเพื่อหารายได้ และไม่ได้รับยกเว้นภาษีป้ายตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 8 (6) และ 8 (13) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2549 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายครั้งที่สอง ให้โจทก์ชำระภาษีป้ายเพิ่มเติมสำหรับรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งหน้าสถานีบริการน้ำมันของโจทก์เลขที่ 50/1192 ประจำปี 2545 ถึง 2548 จำนวน 2 ป้าย (ด้านหน้าและด้านหลัง) ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 เป็นเงิน 40,776 บาท ตามผลของคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 และโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมไว้ แต่ยังไม่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายเลขที่ 27/49, 34/49, 34/49 (ที่ถูก 29/49) และ 28/49 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ให้ประเมินป้ายราคาน้ำมันซึ่งติดตั้งที่สถานีบริการน้ำมันเลขที่ 123 หมู่ที่ 3 ถนนติวานนท์ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี กับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษี 1,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 หมู่ที่ 9 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งฟังเป็นยุติในส่วนนี้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เดิมใช้ชื่อว่าบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 มีจำเลยที่ 2 เป็นนายกเทศมนตรี โจทก์เป็นเจ้าของป้ายใหญ่ที่ติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันของโจทก์เลขที่ 50/1192 โดยป้ายที่อยู่ด้านบนสุดมีข้อความ “ESSO” ขนาดกว้าง 188 เซนติเมตร ยาว 250 เซนติเมตร เป็นป้าย 2 ด้านถัดลงมาเป็นป้ายที่มีเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย ขนาดกว้าง 61 เซนติเมตร ยาว 214 เซนติเมตรเป็นป้าย 2 ด้าน ถัดลงมาเป็นป้ายที่มีข้อความราคาน้ำมันรวม 4 ป้ายต่อกัน กว้างป้ายละ 61 เซนติเมตร ยาว 214 เซนติเมตร เป็นป้ายด้านเดียวถัดลงมาเป็นป้ายที่มีข้อความ “TESCO Lotus Express สะดวก คุ้มใกล้คุณ” ขนาดกว้าง 210 เซนติเมตร ยาว 250 เซนติเมตร ซึ่งเพิ่งมีป้ายดังกล่าวเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา ถัดลงมาด้านล่างสุดเป็นที่ว่าง ขนาดกว้าง 232 เซนติเมตร ยาว 250 เซนติเมตร โดยป้ายทั้งหมดอยู่บนโครงสร้างเดียวกันสูง 935 เซนติเมตร ตามสำเนาภาพถ่ายแนบท้ายคำแถลงของโจทก์ฉบับลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 ตรงกับเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีรายการป้ายใหญ่ดังกล่าวและป้ายอื่นๆ ประจำปี 2545 ถึงปี 2548 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 จำนวน 4 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 ถึง 4 โดยประเมินภาษีในรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันในส่วนป้ายที่มีข้อความ “ESSO” เป็นป้ายประเภทที่ 2 ขนาดกว้าง 188 เซนติเมตร ยาว 250 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย (ด้านหน้าและด้านหลัง) เป็นค่าภาษีป้ายปีละ 3,760 บาท และประเมินป้ายดังกล่าวในส่วนที่มีเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์ และป้ายบอกราคาน้ำมัน เป็นป้ายประเภทที่ 1 ขนาดกว้าง 210 เซนติเมตร ยาว 290 เซนติเมตร จำนวน 1 ป้าย เป็นค่าภาษีป้ายปีละ 366 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 และเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 93 ถึง 96 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีป้ายครั้งแรกในรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเฉพาะในส่วนที่มีภาพเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย และป้ายราคาน้ำมันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินให้เสียภาษีป้ายปีละ 366 บาท จึงอุทธรณ์การประเมิน ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 91 ถึง 92 ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 แก่โจทก์ว่าในรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันนี้ให้ยกเว้นไม่ต้องประเมินภาษีป้ายในส่วนที่เป็นของกิจการอื่นที่ได้ยื่นชำระภาษีป้ายไว้แล้วและในส่วนของเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่ายแต่ป้ายดังกล่าวในส่วนที่มีข้อความ “ESSO” และป้ายราคาน้ำมันไม่อาจแยกออกจากกันได้ เนื่องจากติดตั้งอยู่บนโครงสร้างเดียวกัน จึงต้องประเมินภาษีป้ายทั้งโครงสร้าง แต่การประเมินครั้งแรกไม่ตรงตามข้อเท็จจริงจึงต้องประเมินใหม่สำหรับประจำปี 2545 และปี 2546 ป้ายในส่วนที่มีข้อความ “ESSO” และป้ายราคาน้ำมันเป็นป้ายประเภทที่ 2 ขนาดกว้าง 286 เซนติเมตร ยาว 874 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย (ด้านหน้าและด้านหลัง) เป็นค่าภาษีป้ายปีละ 20,000 บาท และสำหรับประจำปี 2547 และปี 2548 ป้ายในส่วนที่มีข้อความ “ESSO” และป้ายราคาน้ำมันเป็นป้ายประเภทที่ 2 ขนาดกว้าง 250 เซนติเมตร ยาว 432 เซนติเมตร จำนวน 2 ป้าย (ด้านหน้าและด้านหลัง) เป็นค่าภาษีป้ายปีละ 8,640 บาท คำนวณเป็นภาษีป้ายประจำปี 2545 ถึงปี 2548 เป็นเงิน 57,280 บาท แต่โจทก์ได้ชำระค่าภาษีป้ายตามการประเมินภาษีป้ายครั้งแรกประจำปี 2545 ถึงปี 2548 ในป้ายรายการนี้ไว้แล้วเป็นเงิน 16,504 บาท จึงต้องจ่ายเพิ่มเป็นเงิน 40,776 บาท และเนื่องจากจำเลยที่ 1 ต้องคืนภาษีป้ายที่โจทก์ชำระไว้เกินกรณีสถานีบริการน้ำมันของโจทก์เลขที่ 123 หมู่ที่ 3 ถนนติวานนท์ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นเงิน 5,760 บาท ซึ่งเมื่อนำส่วนนี้มาหักออก โจทก์จึงต้องจ่ายค่าภาษีป้ายเพิ่มเป็นเงิน 35,016 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 6, 7, 28 และ 29 และจากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายครั้งที่สองให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในป้ายรายการนี้ ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 เป็นเงิน 35,016 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 30 โจทก์ได้ชำระค่าภาษีตามการประเมินครั้งแรกและการประเมินเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 13 ถึง 16 และ 21
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภาษีป้ายในส่วนรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อจำเลยที่ 2 แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินของโจทก์โดยให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 แล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อศาลตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 33 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายสำหรับสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 ประจำปี 2545 ถึงปี 2548 ครั้งแรก ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 จำนวน 4 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 ถึง 4 แล้ว และยังไม่มีการยกเลิกการประเมินดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่พอใจย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินต่อจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 30 ได้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินภาษีป้ายครั้งแรกในรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเฉพาะในส่วนที่มีเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย และป้ายราคาน้ำมันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินให้เสียภาษีป้ายปีละ 366 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 91 ถึง 92 แล้ว แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ที่วินิจฉัยให้ยกเว้นไม่ต้องประเมินภาษีป้ายดังกล่าวในส่วนที่มีภาพเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่ายและให้เรียกเก็บภาษีป้ายในส่วนที่มีข้อความ “ESSO” และป้ายราคาน้ำมันเพิ่มเติมจากโจทก์เป็นเงิน 40,776 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 28 และ 29 และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายครั้งที่สอง ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ให้เรียกเก็บภาษีตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 30 แล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 จำนวน 4 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 ถึง 4 ก็ต้องถือว่าโจทก์ยังมีความรับผิดในหนี้ค่าภาษีตามการประเมินดังกล่าวในส่วนที่ไม่มีการยกเว้นตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์และไม่มีเหตุที่จะทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ต้องเสียไปโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจิฉัยดังกล่าวต่อศาลตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 33 ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแจ้งการประเมินฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 จำนวน 4 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 1 ถึง 4 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ตามเอกสารหมายล.1 แผ่นที่ 28 และ 29 รายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ในรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 โจทก์ต้องเสียภาษีป้ายในส่วนแสดงราคาน้ำมันหรือไม่และจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินแก่โจทก์เพียงใด ประเด็นนี้แม้ศาลภาษีอากรกลางยังไม่ได้วินิจฉัยแต่เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายสืบพยานมาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่า ป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันในส่วนที่แสดงราคาน้ำมันตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นป้ายที่แสดงประเภท ชนิด และราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าควบคุม ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยการออกใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากรและการเก็บรักษารายงานตามมาตรา 87/3 แห่งประมวลรัษฎากรข้อ 7 กับประกาศคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ฉบับที่ 200 พ.ศ.2535 เรื่องให้ผู้จำหน่ายปลีกแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าควบคุม ลงวันที่ 10 กันยายน 2535 และฉบับที่ 249 พ.ศ.2541 ลงวันที่ 23 เมษายน 2541 ป้ายดังกล่าวจึงไม่ใช่ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้าหรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 6 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายในส่วนนี้ แม้ในส่วนที่แสดงราคาน้ำมันดังกล่าวจะอยู่ใต้ส่วนที่มีข้อความ “ESSO” และอยู่ในโครงสร้างเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อป้ายในส่วนนี้ไม่ใช่ป้ายตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 6 จึงไม่อาจนำไปคำนวณรวมกับป้ายในส่วนที่มีข้อความ “ESSO” เพื่อประเมินให้เสียภาษีป้ายได้อีก การประเมินให้เสียภาษีป้ายในป้ายราคาน้ำมันและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่วินิจฉัยให้เสียภาษีป้ายในป้ายราคาน้ำมันและเปลี่ยนแปลงขนาดป้ายจึงไม่ชอบ นอกจากนี้แม้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ได้วินิจฉัยให้ยกเว้นไม่ต้องประเมินภาษีป้ายในส่วนของเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย ทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดค่าภาษีตามการประเมินในส่วนนี้ก็ตาม แต่เมื่อตามคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้คืนเงินในส่วนนี้ให้แก่โจทก์แต่กลับนำเงินในส่วนนี้ไปหักออกจากค่าภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มเติมซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินในกรณีที่โจทก์ได้ชำระภาษีตามการประเมินภาษีในรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันในส่วนที่มีภาพเครื่องหมายกรมสรรพากรและข้อความเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากมิเตอร์หัวจ่าย และป้ายราคาน้ำมันให้เสียภาษีป้ายปีละ 366 บาท รวม 4 ปีภาษี เป็นเงิน 1,464 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ แต่สำหรับกรณีที่โจทก์ขอให้คืนเงินจำนวน 35,016 บาท ที่โจทก์ได้ชำระไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 และตามการประเมินครั้งที่สองเลขที่ 59/49 ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 นั้น เห็นว่า ลำพังเพียงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่วินิจฉัยให้โจทก์จ่ายค่าภาษีป้ายเพิ่มจากรายการในการประเมินครั้งแรกเป็นเงิน 35,016 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 28 และ 29 ไม่ทำให้โจทก์มีความรับผิดในหนี้ค่าภาษีเพิ่มเติมตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์แต่อย่างใด และถึงแม้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีป้ายครั้งที่สองเลขที่ 59/49 ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมเป็นเงิน 35,016 บาท ตามเอกสารหมายล.1 แผ่นที่ 30 และโจทก์ได้ชำระเงินไปตามการประเมินให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมแล้วก็ตาม แต่ในคดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินให้เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมฉบับเลขที่ 59/49 กรณีจึงไม่อาจคืนเงินตามการประเมินในส่วนนี้จำนวน 35,016 บาท ให้แก่โจทก์ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน …”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 41/49, 40/49, 39/49 และ 38/49 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ลงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ให้ยกเว้นไม่ต้องประเมินป้ายราคาน้ำมันรายการป้ายใหญ่ซึ่งติดตั้งด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 50/1192 หมู่ที่ 9 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ให้โจทก์เสียภาษีป้ายในรายการป้ายใหญ่ประจำปี 2545 ถึงปี 2548 รวมเป็นเงิน 15,040 บาท และให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 1,464 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากนี้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share