คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2617/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

วันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองและยึดเฮโรอีนกับสิ่งของอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1ใช้แบ่งบรรจุเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายกับเงินสดของกลางที่จำเลยที่ 2 มาขอซื้อเฮโรอีนและส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้ก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าจับกุมจำเลย ดังนี้ เงินสดของกลางจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ 1 ได้มา โดยได้กระทำความผิดเพราะการจำหน่ายเฮโรอีนซึ่งเป็นการ กระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสอง ในข้อหาผลิตเฮโรอีนและมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้เงินสดของกลางจะไม่ถือเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ยานพาหนะ หรือวัตถุอื่น ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ฯลฯ อันศาลจะมีอำนาจริบได้ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ซึ่งเป็นบทเฉพาะก็ตาม แต่เมื่อเงินสดของกลางจำเลยที่ 1ได้มาโดยการจำหน่ายเฮโรอีน จึงเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำผิดโดยตรง ศาลย่อมก็มีอำนาจริบเงินสดของกลางนี้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตเฮโรอีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 เพื่อจำหน่ายโดยจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเฮโรอีนจำนวน 2 หลอดพลาสติกแบ่งบรรจุในหลอดกาแฟซึ่งตัดสั้นปิดหัวท้ายได้บางส่วนจำนวน 35 หลอดกาแฟ น้ำหนัก 0.78 กรัม และจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเฮโรอีนจำนวน 1 หลอดพลาสติก และ 35 หลอดกาแฟ น้ำหนักรวม 1.77 กรัม กับอีก 1 หลอดพลาสติก แต่มีเฮโรอีนจำนวนน้อยไม่อาจชั่งหาน้ำหนักได้ ไว้ในครอบครองของจำเลยทั้งสองเพื่อจำหน่าย เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมเฮโรอีนดังกล่าวหลอดกาแฟตัดสั้น 5 หลอด หลอดกาแฟ 6 หลอด เทียนไข 2 เล่ม ไม้ขีดไฟ 5 กลัก เข็มฉีดยา 2 อัน กระดาษ 1 แผ่น กรรไกร 1 เล่ม ที่จำเลยทั้งสองใช้เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ในการผลิตเฮโรอีนกับเงินสดจำนวน 820 บาท ที่จำเลยทั้งสองได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษหรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65 วรรคสอง, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคสอง,66 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(2) คงจำคุก 25 ปี ริบของกลาง ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้ริบเงินสดของกลางจำนวน 820 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ริบเงินสดของกลาง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้ว่า เงินสดของกลางจำนวน 820 บาท เป็นทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้แม้เงินสดของกลางจะไม่ได้มาโดยการจำหน่ายเฮโรอีนในคดีนี้โดยตรงและโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานจำหน่ายเฮโรอีนก็ตาม แต่ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจริบเงินสดของกลางนั้นได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(2) ซึ่งโจทก์เห็นว่า ศาลควรสั่งริบเงินสดของกลางจำนวน 820 บาท ด้วยนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33บัญญัติว่า “ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วยคือ (2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด” ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า วันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองและยึดเฮโรอีนกับสิ่งของอุปกรณ์อื่น ๆที่จำเลยที่ 1 ใช้แบ่งบรรจุเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายกับเงินสดจำนวน820 บาท จำเลยที่ 1 ก็รับว่าเงินสด 820 บาท นั้น เป็นเงินที่จำเลยที่ 2 มาขอซื้อเฮโรอีนและส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1ไว้ก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าจับกุมจำเลย ดังนี้จึงฟังได้ว่าเงินสด 820 บาท ของกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยที่ 1ได้มาโดยได้กระทำความผิดเพราะการจำหน่ายเฮโรอีนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทั้งคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาผลิตเฮโรอีนและมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแม้เงินสด 820 บาท ของกลางนี้จะไม่ถือเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ยานพาหนะ หรือวัตถุอื่น ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ฯลฯ อันศาลจะมีอำนาจริบได้ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ซึ่งเป็นบทเฉพาะก็ตาม แต่เงินสดของกลางดังกล่าวจำเลยที่ 1ได้มาโดยการจำหน่ายเฮโรอีน จึงเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำผิดโดยตรง ศาลก็มีอำนาจริบเงินสดจำนวน 820 บาท ของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ดังกล่าวข้างต้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเงินสดจำนวน 820 บาท ของกลางตามคำขอท้ายฟ้องด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share