คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2615/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การพาดหัวหนังสือพิมพ์ว่า “จับทูตซาอุฯ บงการฆ่า 3 เพื่อนร่วมชาติ” นั้น ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดในทันทีนั้นว่ามีการจับทูต ซึ่งหมายถึงเอกอัครราชทูต หรืออัครราชทูต หรืออุปทูต หรือบุคคลในระดับเดียวกัน ฐานเป็นผู้บงการฆ่าเพื่อนร่วมชาติ 3 คน ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะความจริงในขณะนั้นยังไม่มีการจับเจ้าหน้าที่ระดับทูต หรือระดับใดของสถานทูตซาอุดิอาระเบีย ฉะนั้นการพาดหัวหนังสือพิมพ์ดังกล่าวจึงเป็นเท็จ เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามข้อ 2(6) และ ข้อ 4 แห่งคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานครผู้คัดค้านมีอำนาจที่จะดำเนินการแก่ผู้ร้องตามข้อ 7และปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ของผู้ร้องได้ถูกเตือน มาแล้ว 2 ครั้งแต่ยังฝ่าฝืนข้อ 4 ซ้ำอีก ดังนั้น เจ้าพนักงานการพิมพ์ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะใช้ดุลพินิจ สั่งถอนใบอนุญาตบรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ของผู้ร้องตามข้อ 7 วรรคสองได้.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ “แนวหน้า” รายวัน ผู้ร้องที่ 2เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2533 หนังสือพิมพ์”แนวหน้า” รายวัน ได้พาดหัวว่า “จับทูตซาอุฯ บงการฆ่า 3 เพื่อนร่วมชาติ” คำว่า “ทูตซาอุฯ” มีความหมายเต็มเป็นที่เข้าใจของคนทั่วไปว่า นักการทูตในสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ในวันที่มีการออกข่าวเช่นนั้น เจ้าพนักงานกองกำกับการสันติบาลได้เชิญผู้ร้องที่ 2 ไป และขอให้แก้ไขข่าวเพราะเกรงว่าจะกระทบถึงสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ผู้ร้องที่ 2 ก็แก้ไขข่าวให้โดยลงข่าวว่า “ปฏิเสธจับ จนท.ทูตซาอุฯ มือฆ่าหนีกบดานดงโจร”ในหนังสือพิมพ์ “แนวหน้า” รายวัน ฉบับลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2533ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2533 เจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานครได้ออกคำสั่ง ที่ 2/2533 ให้ถอนใบอนุญาตการเป็นบรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ “แนวหน้า” รายวัน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ โดยอ้างว่าการพาดหัวหนังสือพิมพ์ว่า “จับทูตซาอุฯ บงการฆ่า 3 เพื่อนร่วมชาติ”เป็นการพาดหัวหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นเท็จหรือในลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจ หรือวิตกกังวล หรือเกิดความหวาดกลัวหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 2(6) และ ข้อ 4 ผู้ร้องทั้งสองเห็นว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานครขัดต่อข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยทางด้านการเสนอข่าวและความคิดเห็นที่เป็นจริง ขณะเดียวกันคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 แม้จะยังคงยอมรับกันว่าเป็นกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ออกตามอำนาจนิติบัญญัติที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย แม้จะยังมิได้มีการยกเลิกคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับดังกล่าว ก็ไม่ชอบที่ฝ่ายบริหารจะนำคำสั่งนั้นมาใช้บังคับในกรณีนี้ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานครที่ 2/2533 ดังกล่าวเสีย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานคร ที่ 2/2533 ผู้คัดค้านเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อาศัยเหตุผลและความชอบธรรมแล้ว ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายฟาฮัด เอแซค ฮัลมาลี เจ้าหน้าที่ประทับตราวีซ่าของสถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย นายอาหมัด เอ อัลซาลีพนักงานขับรถยนต์ของสถานทูตดังกล่าวและนายอับดุลลาห์ เอสอัลแบซีรี เลขานุการโทประจำสถานทูตดังกล่าว ถึงแก่ความตายบริเวณหน้าบ้านและห้องพักที่ถนนนางลิ้นจี่ กรุงเทพมหานครผลกระทบที่เกิดขึ้นได้แก่การที่สถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทยงดออกวีซ่าให้แก่บุคคลที่มีสัญชาติไทยตั้งแต่วันที่ 3กุมภาพันธ์ 2533 เป็นต้นไปโดยไม่มีกำหนดเวลา ทำให้คนงานไทยนับหมื่นคนไม่มีโอกาสเดินทางเข้าไปในประเทศซาอุดีอาระเบีย ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2533 หนังสือพิมพ์ “แนวหน้า” รายวัน ได้พาดหัวว่า “จับทูตซาอุฯ บงการฆ่า 3 เพื่อนร่วมชาติ” ซึ่งเป็นการพาดหัวหนังสือพิมพ์อันเป็นเท็จหรือในลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจ หรือวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัวเนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าได้มีการจับกุมทูตซาอุดีอาระเบียการใช้คำว่า “ทูตซาอุ” ตามความเข้าใจของคนทั่วไปย่อมหมายถึงตัวเอกอัครราชทูตของประเทศซาอุดีอาระเบีย แม้ประเทศไทยกับประเทศซาอุดีอาระเบียยังไม่มีการสถาปนาความสัมพันธไมตรีกันถึงขั้นส่งเอกอัครราชทูตมาประจำประเทศไทยก็ตาม แต่อุปทูตซาอุดีอาระเบียคือบุคคลผู้มีอำนาจเป็นคนที่ 1 ทำหน้าที่เสมือนเอกอัครราชทูต ผู้คัดค้านพิจารณาแล้ว เห็นว่า อาจมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศซาอุอาระเบีย การออกคำสั่งของผู้คัดค้านได้กระทำตามอำนาจหน้าที่และขอบเขตแห่งกฎหมายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแพ่งไต่สวนแล้วทำความเห็นและส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามข้อ 8 แห่งคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 ที่แก้ไขแล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายฟาฮัดเอแซด ฮัลมาลี เจ้าหน้าที่ประทับตราวีซ่าของสถานทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย นายอาหมัด เอ อัลซาลี พนักงานขับรถยนต์ของสถานทูต และนายอับดุลลาห์ เอส อัลแบซีรี เลขานุการโทประจำสถานทูตถึงแก่ความตายบริเวณหน้าบ้านและห้องพักที่ถนนนางลิ้นจี่กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2533 ผู้ร้องที่ 1ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ “แนวหน้า” รายวัน ผู้ร้องที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ได้ร่วมกันพิมพ์และโฆษณาโดยการพาดหัวหนังสือพิมพ์ดังกล่าวว่า “จับทูตซาอุฯบงการฆ่า 3 เพื่อนร่วมชาติ” ปรากฏตามหนังสือพิมพ์เอกสารหมาย ร.5ในขณะนั้นยังไม่มีการจับเจ้าหน้าที่ระดับทูตหรือระดับใดของสถานทูตซาอุดีอาระเบีย มีปัญหาว่าการพาดหัวหนังสือพิมพ์ “แนวหน้า” ของผู้ร้อง เอกสารหมาย ร.5 ดังกล่าว เป็นเท็จอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามข้อ 2(6) และข้อ 4 แห่งคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านมีอำนาจตามข้อ 7 วรรคสองสั่งถอนใบอนุญาตและมีเหตุสมควรที่จะสั่งถอนใบอนุญาตตามคำสั่งเอกสารหมาย ค.2 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การพาดหัวหนังสือพิมพ์”แนวหน้า” เอกสารหมาย ร.5 ว่า “จับทูตซาอุฯ บงการฆ่า 3 เพื่อนร่วมชาติ” นั้น ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดในทันทีนั้นว่ามีการจับทูตซึ่งหมายถึงเอกอัครราชทูต หรืออัครราชทูต หรืออุปทูตหรือบุคคลในระดับเดียวกัน ฐานเป็นผู้บงการฆ่าเพื่อนร่วมชาติ 3 คนซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะความจริงในขณะนั้นยังไม่มีการจับเจ้าหน้าที่ระดับทูตหรือระดับใดของสถานทูตซาอุดีอาระเบียเลย ฉะนั้น การพาดหัวหนังสือพิมพ์ “แนวหน้า” เอกสารหมาย ร.5ดังกล่าวจึงเป็นเท็จ และศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การพาดหัวหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นเท็จเช่นนั้น เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามข้อ 2 (6) และข้อ 4 แห่งคำสั่งดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านมีอำนาจที่จะดำเนินการแก่ผู้ร้องตามข้อ 7 และปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ของผู้ร้องได้เคยถูกเตือนมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังฝ่าฝืนข้อ 4 ซ้ำอีก ดังนั้นที่ผู้คัดค้านใช้ดุลพินิจสั่งถอนใบอนุญาตบรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ของผู้ร้องตามข้อ 7วรรคสอง จึงชอบแล้ว”
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง.

Share