แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นบิดาและเป็นบุคคลต่างด้าว ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ของจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการเมื่อจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ย่อมถูกผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตาม จะยึดถือที่ดินพิพาทไว้เป็นทรัพย์สินของตนหาได้ไม่
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มิใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท สัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์ไม่ผูกพันจำเลยที่ 2พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคนต่างด้าว จำเลยที่ 2 มีชื่อในที่ดินพิพาทเพราะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ปฏิเสธสัญญาดังกล่าวพิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองโอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ และใช้ค่าเสียหายจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเดิมที่ดินรายพิพาทเป็นของโจทก์ และโจทก์เป็นหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 เมื่อปีพ.ศ. 2514 โจทก์ได้โอนที่ดินรายพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 บุตรของจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการซื้อขายดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 เมื่อปี พ.ศ. 2517 โจทก์ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) เพื่อขอซื้อที่ดินคืนคณะกรรมการดังกล่าวได้เปรียบเทียบแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงกันได้คณะกรรมการจึงส่งเรื่องไปให้อำเภอโพธิ์ประทับข้างลงบันทึกคำเปรียบเทียบและข้อตกลงไว้ในสารบบความแพ่งของอำเภอตามเอกสารหมาย จ.2 มีสารสำคัญว่า จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เช่าที่ดินรายพิพาททำกินต่อไปโดยคิดค่าเช่า 10 ถังต่อไร่ และยินดีขายที่ดินรายพิพาทคืนให้โจทก์ตามที่โจทก์ขอซื้อในราคา 18,900 บาท โดยให้เวลาไม่จำกัด เมื่อโจทก์ชำระเงินครบจำเลยที่ 1 จะให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโอนที่ดินให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ขอซื้อที่ดินรายพิพาทจากจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมขาย โจทก์จึงร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่สำนักงานดังกล่าวได้มีหนังสือถึงจำเลยทั้งสองให้ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินรายพิพาทแก่โจทก์ ณ ที่ว่าการอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ในวันที่ 2 สิงหาคม 2522 และวันที่ 7 กันยายน 2522 โจทก์ไปตามนัดทั้งสองครั้ง แต่จำเลยทั้งสองไม่ไป ในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินคืนให้โจทก์โดยผิดหลงหรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ทำโดยไม่ผิดหลง จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เป็นประเด็นไว้ จึงเป็นอันยุติ คงมีปัญหานั้นขอสู่ศาลฎีกาเฉพาะในประเด็นอีก 3 ข้อ” ฯลฯ
“ในประเด็นข้อต่อไปที่ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องผูกพันตามสัญญาจะขายที่ดินหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้รับโอนที่ดินรายพิพาทแทนจำเลยที่ 1 ที่ดินรายพิพาทจึงไม่ใช่ของจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ เมื่อจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาจะขายที่ดินรายพิพาทคืนให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ย่อมถูกผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามจะยึดถือที่ดินรายพิพาทไว้เป็นทรัพย์สินของตนหาได้ไม่
ในประเด็นข้อสุดท้ายเรื่องค่าเสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่า การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมขายที่ดินรายพิพาทคืนแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเช่าที่ดินรายพิพาททำนาเสียค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกปีละ 2 เกวียน 10 ถัง คิดเป็นเงินปีละ 5,250 บาท ซึ่งโจทก์ถือเป็นค่าเสียหาย ส่วนค่าเสียหายอื่นนอกจากนี้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายปีละ 5,250 บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นไปจนกว่าจะโอนที่ดินรายพิพาทให้โจทก์เสร็จ โจทก์พอใจไม่ฎีกา แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 2 ได้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์กับภริยาให้ออกไปจากที่ดินรายพิพาท ศาลพิพากษาขับไล่คดีถึงที่สุด และโจทก์กับภริยาได้ออกไปจากที่ดินรายพิพาทแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 โจทก์จึงไม่ได้เสียค่าเช่าที่ดินรายพิพาทแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับค่าเสียหาย