แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฉ้อฉลหมายถึงนิติกรรมอันลูกหนี้ได้ทำลงโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 และบุคคลที่จะเป็นโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้คือเจ้าหนี้ หาใช่ตัวผู้ทำนิติกรรมนั้นเองไม่ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาแบ่งปันมรดกไปฟ้องคดีในอีกศาลหนึ่ง ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาแบ่งปันมรดกที่ตนได้ทำกับจำเลยไว้ แล้วทิ้งฟ้องจนศาลจำหน่ายคดีนั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นฟ้องนั้นและทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 และย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสัญญาแบ่งปันมรดกคดีนี้แต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยานายเกียรติผู้ตาย จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเกียรติผู้ตาย หลังผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยได้ทำสัญญาแบ่งปันมรดกให้โจทก์ไว้เป็นหนังสือ แล้วจำเลยไม่ทำการโอนแล้วส่งมอบทรัพย์สินให้โจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยโอน และส่งมอบทรัพย์สินให้โจทก์ตามสัญญา
จำเลยให้การว่าได้ทำสัญญาแบ่งปันมรดกให้ไว้แก่โจทก์จริง แต่ต่อสู้ว่าโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดตะกั่วป่า อ้างว่าสัญญาแบ่งปันมรดกรายที่ฟ้องคดีนี้เกิดจากการฉ้อฉล ซึ่งเป็นการขัดกับฟ้องในคดีนี้ของโจทก์เอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์จากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์เป็นที่ดินรายการที่ ๒๓ ให้โจทก์ร้อยละ ๒๕ ของเนื้อที่ดินทั้งหมด
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ได้สละข้อหาในการเรียกร้องเอาทรัพย์ตามสัญญาแบ่งปันมรดกรายนี้แล้ว เพราะโจทก์เบิกความว่า สัญญาแบ่งปันมรดกที่ฟ้องนี้เกิดจากการฉ้อฉล และโจทก์ยังได้ไปฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดตะกั่วป่าให้เพิกถอนสัญญาแบ่งปันมรดกรายนี้ จึงต้องถือว่าโจทก์ได้สละสิทธิตามสัญญาแบ่งปันมรดกรายนี้แล้วนั้น เห็นว่าการฉ้อฉลย่อมหมายถึงนิติกรรมอันลูกหนี้ได้ทำลงโดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ และบุคคลที่จะเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลได้คือเจ้าหนี้ หาใช่ตัวผู้ทำนิติกรรมนั้นเองไม่ การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาแบ่งปันมรดกรายนี้ไปฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดตะกั่วป่า ขอให้เพิกถอนสัญญาแบ่งปันมรดกที่ตนเองได้ทำกับจำเลยไว้ แล้วทิ้งฟ้องจนศาลจำหน่ายคดีนั้น ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นฟ้องนั้น และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยืนฟ้องเลย ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๖ และย่อมไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสัญญาแบ่งปันมรดกคดีนี้แต่อย่างใด
พิพากษายืน