แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตัวอย่างพินัยกรรมที่ตีความหมายว่า ให้มีสิทธิอาศัยเฉพาะที่ดินไม่หมายถึงบ้านเรือนด้วย
แม้ศาลจะเชื่อคำพยานบุคคลว่าความประสงค์เดิมของผู้ทำพินัยกรรมอาจประสงค์ให้จำเลยมีสิทธิอาศัยทั้งที่ดินและบ้านเรือนด้วยก็ตามแต่เวลาจดเป็นลายลักษณ์อักษรคงระบุให้อาศัยในที่ดินดังนี้ ย่อมไม่มีสิทธิอาศัยในบ้านเรือนด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากเรือนของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิอาศัยในที่ดินและเรือนหลังนี้ตามพินัยกรรมที่นางใหญ่ได้ทำไว้
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามพินัยกรรมที่นางใหญ่ทำไว้ระบุเพียงว่าให้จำเลยมีสิทธิอาศัยแต่เฉพาะที่ดินเท่านั้น ฉะนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิอาศัยในเรือนพิพาท พิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกจากเรือนพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่ออ่านพินัยกรรมรวมกันและโยงกันต้องหมายความว่า ให้มีสิทธิอยู่ในที่ดิน บ้านเรือน จะแปลว่าให้อยู่เฉพาะในที่ดินไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีคำพยานสนับสนุน จึงพิพากษากลับว่า จำเลยมีสิทธิอาศัยเรือนพิพาทตามพินัยกรรมต่อไป ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พินัยกรรมข้อ 1 มีความว่า “ที่ดินตามโฉนดที่ 1055 ยกให้แก่โจทก์ทั้ง 5 คนละเท่า ๆ กัน พร้อมทั้งบ้านเรือนในที่รายนี้ และให้จำเลยได้อาศัยอยู่ในที่รายนี้จนตลอดชีวิต”
นายเชวงพยานจำเลยผู้เป็นพยานในพินัยกรรมเบิกความว่า นางใหญ่ระบุให้จำเลยมีสิทธิอาศัยทั้งที่ดินและบ้านเรือน แต่ในพินัยกรรมระบุเพียงให้อาศัยแต่ในที่รายนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ความประสงค์เดิมของนางใหญ่อาจเป็นจริงดังคำของนายเชวง แต่เวลาจดเป็นลายลักษณ์อักษรคงเหลือแต่ให้จำเลยอาศัยในที่ดินเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ศาลนี้เห็นว่า จำเลยไม่มีสิทธิอาศัยในบ้านเรือนด้วย พิพากษากลับ บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น