คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2608/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์กับพวกยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 13 มีลายมือชื่อผู้เรียกร้องไม่ครบร้อยละสิบห้าข้อเรียกร้องจึงไม่มีผลและถือได้ว่าตกไปการที่มีการยื่นลายมือชื่อผู้เรียกร้องเพิ่มขึ้นหาทำให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับถูกต้องตามกฎหมายไม่โจทก์จึงไม่มีมูลฐานที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อนัดหยุดงานได้โดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยให้โจทก์กลับเข้าทำงานแต่โจทก์ก็ยังคงนัดหยุดงานกันต่อไป จึงเป็นกรณีที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรจำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามสิบเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 โดยมิได้กระทำความผิด และเลิกจ้างโจทก์ที่ 7 ถึงที่ 30โดยอ้างว่าขาดงานเกินกว่า 3 วัน ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงมีว่า เมื่อวันที่ 3สิงหาคม 2526 โจทก์ที่ 7 ถึงที่ 30 กับพวกได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อจำเลย โดยพนักงานประจำของจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สนับสนุนข้อเรียกร้อง 46 คน ครั้นวันรุ่งขึ้นมีพนักงานมาลงลายมือชื่อสนับสนุนอีกรวมเป็น80 คน เป็นข้อเรียกร้องที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ในระหว่างการไกล่เกลี่ยซึ่งยังไม่สามารถตกลงกันได้ โจทก์ที่ 7 ถึงที่ 30 กับพวกได้นัดหยุดงานจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ที่ 7 ถึงที่ 10 กับพวก เป็นการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสามสิบ โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามสิบพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามสิบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3สิงหาคม 2526 โจทก์ที่ 7 กับพวกได้ยื่นข้อเรียกเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อจำเลย แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีพนักงานลงลายมือชื่อเป็นผู้ร่วมเรียกร้องไม่ครบร้อยละสิบห้าของจำนวนพนักงานทั้งหมดของจำเลย จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้กรมแรงงานทราบและแจ้งด้วยว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 13 จำเลยจึงไม่สามารถเปิดการเจรจากับพนักงานผู้ยื่นข้อเรียกร้องได้วันรุ่งขึ้นโจทก์ที่ 7 ได้นำสำเนาลายมือชื่อพนักงานมาให้จำเลยเพิ่มเติม โดยมิได้แนบข้อเรียกร้องมาแต่ประการใด แล้วโจทก์ทั้งสามสิบได้ยุยงส่งเสริมและสนับสนุนให้บรรดาพนักงานของจำเลยนัดหยุดงานโดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยและพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯจำเลยได้มีหนังสือให้โจทก์ทั้งสามสิบกลับเข้าทำงานภายในวันที่ 23 สิงหาคม2526 โดยจำเลยจไม่ถือเป็นความผิด และยังให้โอกาสจนถึงวันที่ 25 สิงหาคม2526 โจทก์ทั้งสามสิบก็ยังไม่กลับเข้าทำงานตามปกติ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามสิบฐานจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ละทิ้งหน้าที่การงานเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมจำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย หรือเงินอื่นใดแก่โจทก์ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์ทั้งสามสิบอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2508 มาตรา 13 บัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง ข้อเรียกร้องนั้นต้องมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมด เป็นเรื่องกฎหมายบังคับว่าการยื่นข้อเรียกร้องจะต้องมีจำนวนผู้แจ้งข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมด ดังนี้ เมื่อข้อเรียกร้องที่ตัวแทนโจทก์ทั้งสามสิบกับพวกเป็นผู้ยื่นมีลายมือชื่อผู้เรียกร้องเพียง 44 คน ไม่ครบร้อยละสิบห้าตามที่บัญญัติไว้ ข้อเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่มีผลและถือได้ว่าตกไป การที่มีการยื่นเพียงรายชื่อและลายมือชื่อผู้เรียกร้องเพิ่มขึ้น หาทำให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับเป็นว่าถูกต้องตามกฎหมายไม่โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีมูลฐานที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อนัดหยุดงานได้โดยชอบกฎหมายทั้งจำเลยก็ได้ยืนยันแต่แรกแล้วว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้โจทก์ทั้งสามสิบกับพวกกลับเข้าทำงาน แต่โจทก์ทั้งสามสิบก็ยังคงนัดหยุดงานกันต่อไปจนถึงวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามสิบ เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามสิบละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยจึงเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

พิพากษายืน

Share