แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 ประกอบ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัย ว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ฉะนั้น เมื่อศาลแรงงานสอบโจทก์จำเลยแล้วแถลงรับข้อเท็จจริงกัน ศาลแรงงานก็ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจงดสืบพยานเสียได้ในเมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังเป็นยุติและวินิจฉัยได้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลแรงงานเพื่อฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจนพอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายจึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานอันเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หมายความว่า เงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำณวน ตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ดังนี้ แม้จำเลยจ่ายค่าเช่าบ้าน เดือนละ 30,000 บาท ค่าสาธารณูปโภคได้แก่ ค่าไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์เดือนละ 3,000 บาท ให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนพร้อมเงินเดือนโดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงก็ตาม แต่เมื่อเงินดังกล่าวเป็นเพียงสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่โจทก์ มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานของโจทก์ จึงไม่เป็นค่าจ้าง ย่อมนำมารวมเข้ากับ เงินเดือนเพื่อคำนวณเป็นค่าชดเชยไม่ได้ อุทธรณ์จำเลยที่ว่า งานของโจทก์มีแต่หน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงิน ตรวจสอบการเสนอราคาให้แก่ที่ปรึกษาโครงการและตรวจสอบผลงานเฉพาะโครงการที่ได้รับมอบหมาย ทั้งโจทก์ไม่มีหน้าที่ทำงานในโครงการอื่น ๆ ที่จำเลยรับเหมาก่อสร้างอันเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย และอุทธรณ์จำเลยที่ว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนเป็นเวลา 3 ปี โดยจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ดูแลงานเฉพาะแต่ละโครงการที่จำเลยเห็นว่าโจทก์มีความเชี่ยวชาญเท่านั้นซึ่งงานแต่ละโครงการที่โจทก์ดูแลจะมีกำหนดแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น คดีนี้จำเลยให้การว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนเป็นเวลา 3 ปี และลักษณะงานของโจทก์เป็นงานวิเคราะห์อันเป็นส่วนหนึ่ง ของงานจำเลย ซึ่งมิใช่เป็นงานในโครงการเฉพาะ แต่เป็นงานปกติ ของธุรกิจของจำเลย ข้ออ้างตามคำให้การของจำเลย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่าย ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสาม ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว ย่อมไม่ทำให้ผลแห่งการวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่เป็นสาระ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา คดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2538 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งผู้วิเคราะห์งานก่อสร้าง กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ทั้งสิ้น 3 ปี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 122,600 บาทต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2539 จำเลยเลิกจ้างโจทก์และให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2539 โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดอันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย367,800 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 2,329,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีในเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวเนื่องจากประวิงคดีแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับข้อมูลและความลับของบริษัทจำเลย และเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนเป็นเวลา 3 ปี โดยครั้งแรกจำเลยมีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2539 ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 4 กันยายน 2539 ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2539 จำเลยมีหนังสือบอกเลิกจ้างโจทก์อีกครั้งโดยให้มีผลทันทีพร้อมกับจ่ายค่าจ้างและผลประโยชน์อื่น ๆ รวม 528,798.65 บาท แก่โจทก์ ทั้งลักษณะงานของโจทก์เป็นงานวิเคราะห์มิใช่งานตามปกติของจำเลย จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ กับค่าเช่าบ้านและค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคเป็นเงินสวัสดิการ ไม่ใช่ค่าจ้าง จะนำมารวมคำนวณค่าชดเชยไม่ได้ขอให้ยกฟ้อง
วันสืบพยาน โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2540 ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างโครงการต่าง ๆ จำเลยประกอบกิจการด้านนี้มา 11 ปีแล้ว ดำเนินโครงการต่าง ๆ มาแล้วประมาณ 65 โครงการ โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.2 สัญญาดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ดูแลงานธุรการด้านสัญญา มีหน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงินตรวจสอบการเสนอราคาให้ที่ปรึกษาโครงการ และตรวจสอบผลงานเป็นต้นได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือเท่ากับ 89,600 บาท ตามสัญญาจ้างข้อ 1 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.2 กับได้รับค่าเช่าบ้านเดือนละ 30,000 บาท ค่าสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ เป็นต้น เดือนละ 3,000 บาท จ่ายให้เท่ากันทุกเดือนพร้อมเงินเดือน โดยโจทก์ไม่ต้องนำใบเสร็จรับเงินมาแสดง จำเลยเลิกจ้างโจทก์วันที่ 5 มิถุนายน 2539 ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 4 กันยายน 2539 ส่วนข้ออ้างและข้อต่อสู้เกี่ยวกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์จำเลยขอสละ ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 367,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานโดยไม่ฟังข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์และพยานจำเลยให้สิ้นกระแสความว่า ลักษณะงานตามโครงการของจำเลยเป็นอย่างไรและขอบเขตการทำงานของโจทก์เป็นอย่างไรจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง ศาลฎีกาควรมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลแรงงานกลางเพื่อฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้น เกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ฉะนั้นเมื่อศาลแรงงานกลางสอบโจทก์จำเลยแล้วแถลงรับข้อเท็จจริงกันศาลแรงงานกลางก็ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจงดสืบพยานเสียได้ในเมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังเป็นยุติและวินิจฉัยได้แล้วฉะนั้น อุทธรณ์จำเลยที่ว่าชอบที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลแรงงานกลางเพื่อฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจนพอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายนั้น จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานกลางอันเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อสองว่า เงินค่าเช่าบ้านและเงินค่าสาธารณูปโภคเดือนละ 30,000 บาท และ 3,000 บาท ตามลำดับไม่ใช่ส่วนหนึ่งของค่าจ้าง จะนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยไม่ได้นั้นเห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ได้ให้นิยามคำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่าเงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ดังนี้ แม้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละ 30,000 บาท ค่าสาธารณูปโภคได้แก่ ค่าไฟฟ้าประปา และโทรศัพท์เดือนละ 3,000 บาท ให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนพร้อมเงินเดือนโดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.2 พร้อมคำแปลข้อ 3 ก็ตาม แต่เงินดังกล่าวเป็นเพียงสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่โจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานของโจทก์ตามบทนิยามข้างต้นย่อมไม่เป็นค่าจ้าง จะนำมารวมเข้ากับเงินเดือนเพื่อคำนวณเป็นค่าชดเชยหาได้ไม่เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย90 วัน เป็นเงิน 268,800 บาท เท่านั้น
ส่วนอุทธรณ์จำเลยข้อสามที่ว่า งานของโจทก์มีแต่หน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงิน ตรวจสอบการเสนอราคาให้แก่ที่ปรึกษาโครงการและตรวจสอบผลงานเฉพาะโครงการที่ได้รับมอบหมาย ทั้งโจทก์ไม่มีหน้าที่ทำงานในโครงการอื่น ๆ ที่จำเลยรับเหมาก่อสร้างอันเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยแต่อย่างใดก็ดีและอุทธรณ์จำเลยข้อสี่ที่ว่าจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนเป็นเวลา 3 ปี โดยจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ดูแลงานเฉพาะแต่ละโครงการที่จำเลยเห็นว่าโจทก์มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งงานแต่ละโครงการที่โจทก์ดูแลจะมีกำหนดแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยก็ดีนั้น ปัญหาสองข้อนี้เมื่อจำเลยให้การว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนเป็นเวลา 3 ปีและลักษณะงานของโจทก์เป็นงานวิเคราะห์อันเป็นส่วนหนึ่งของงานจำเลยซึ่งมิใช่เป็นงานในโครงการเฉพาะ แต่เป็นงานปกติของธุรกิจของจำเลยจึงไม่เข้าข้อยกเว้นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสาม อุทธรณ์ทั้งสองข้อไม่ทำให้ผลแห่งการวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน268,800 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง