คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์กับกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 พิพาทกันเกี่ยวกับกรณีที่โจทก์นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อปี 2531 โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เห็นว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าอยู่ในพิกัดที่ 8705.10 ไม่ได้รับลดหย่อนอากรและไม่พอใจราคา จึงสั่งให้โจทก์วางประกัน โจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันค่าภาษีอากร แล้วชำระภาษีอากรตามที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้า กับได้โต้แย้งไว้ แต่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งยืนตาม โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า สินค้าที่โจทก์นำเข้าจัดอยู่ในพิกัดที่ 8426.19 และราคาที่โจทก์สำแดงไว้เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด แต่ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้คืนหนังสือค้ำประกัน พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ได้ประเมินภาษีอากรเพิ่มจากที่โจทก์สำแดงไว้ ต่อมาเมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วจำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามที่ได้ประเมินเพิ่มพร้อมด้วยเงินเพิ่มภาษีดังกล่าว โจทก์ชำระเงินดังกล่าวและได้รับหนังสือค้ำประกันแล้ว การที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ออกแบบแจ้งการประเมินไปถึงโจทก์ซึ่งเป็นการประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุง-เทศบาลตามกฎหมาย ส่วนหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่าภาษีการค้าและภาษี-บำรุงเทศบาลที่ค้างชำระอยู่ มิใช่เป็นการแจ้งการประเมินภาษีอากร ย่อมไม่มีผลเป็นการประเมินภาษีอากรตามกฎหมาย จึงต้องถือแต่เฉพาะการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินเท่านั้นเป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนของภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลมาตั้งแต่แรกแล้ว การที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้จำเลยคืนเงินภาษีการค้ากับภาษีบำรุงเทศบาลที่จำเลยที่ 1 ประเมินเพิ่มย่อมมีผลเท่ากับเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรดังกล่าวต่อศาลโดยตรง โดยไม่ผ่านขั้นตอนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 จึงต้องห้ามมิให้นำคดีเกี่ยวกับภาษีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528

Share