แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ห้ามคู่ความนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารเฉพาะเมื่อมีกฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น แต่ข้อตกลงจะซื้อจะขายที่ดินโดยมีการวางมัดจำไว้บางส่วนแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลบังคับคดีกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคสอง โดยไม่ต้องการหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ข้อตกลงจะซื้อจะขายดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จำเลยมีสิทธินำสืบถึงราคาที่จะซื้อจะขายที่ดินกันตามความเป็นจริงได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยในที่ดินโฉนดเลขที่ 15661 ต้องการแบ่งแยกออกเป็นของโจทก์จำเลยตามตำแหน่งและเนื้อที่ดินตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง แต่จำเลยไม่ยอม ขอให้บังคับจำเลยร่วมกับโจทก์ไปยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี (สาขาธัญบุรี) โดยให้จำเลยเป็นฝ่ายออกค่าธรรมเนียม ให้โจทก์ได้ที่ดินทางแถบทิศตะวันออก ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง หากจำเลยไม่ยอมแบ่งให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง ความจริงจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 80,000 บาท แล้วไม่มีเงินชำระ จึงขายที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ในราคาไร่ละ 300,000 บาทโดยเอาหนี้ดังกล่าวเป็นมัดจำส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือตกลงชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์และแบ่งแยกคือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2532 ก่อนถึงกำหนดโจทก์ให้จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวในราคาไร่ละ 100,000บาท โดยโจทก์อ้างว่าจะนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมมาก และสัญญาว่าจะไม่นำสัญญาดังกล่าวมาบังคับระหว่างกัน โจทก์จำเลยจึงผูกพันตามสัญญาเดิม เมื่อถึงกำหนดโจทก์ให้จำเลยจดทะเบียนให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมก่อนจึงจะชำระเงินให้ เมื่อจดทะเบียนแล้วโจทก์ชำระให้เพียง 250,000 บาท จำเลยจึงไม่แบ่งแยกให้โจทก์บอกว่ายังไม่ต้องการแบ่งแยกตอนนี้ ขอให้แบ่งแยกเมื่อโจทก์นำเงินส่วนที่เหลือมาชำระให้ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จำเลยไม่เคยตกลงกันว่าจะแบ่งแยกที่ดินกันอย่างไร ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายกันในราคาไร่ละ 100,000 บาท โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินให้จำเลยครบถ้วนแล้วโดยมิได้หลอกลวงหรือฉ้อฉลจำเลยแต่อย่างใด จำเลยจึงได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วม จำเลยตกลงจะแบ่งแยกให้ภายหลัง โจทก์ตกลง การชำระเงินส่วนที่เหลือ 250,000 บาท จำเลยและมารดาจำเลยก็ได้นับต่อหน้าพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอธัญบุรี หากยังมีเงินค้างก็คงได้มีการบันทึกกันไว้ หากไม่สามารถตกลงแบ่งแยกกันได้ก็ให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันตามส่วนขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เมื่อชำระเงินครบแล้วให้โจทก์จำเลยไปดำเนินการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีสาขาธัญบุรี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลย ระบุราคาที่ดินจะซื้อกันไร่ละ100,000 บาท จำเลยนำสืบว่าแท้จริงโจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินกันราคาไร่ละ 300,000 บาท ไม่ได้ เพราะเป็นการนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้นเห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าว ห้ามคู่ความนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร เฉพาะเมื่อมีกฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้นแต่ข้อตกลงจะซื้อจะขายที่ดินกันโดยมีการวางมัดจำไว้บางส่วนแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลให้บังคับคดีกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง โดยไม่ต้องการหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญอีก ข้อตกลงจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง จำเลยมีสิทธินำสืบว่า แท้จริงโจทก์จำเลยตกลงจะซื้อจะขายที่ดินกันราคาไร่ละ 300,000 บาท ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ดังที่โจทก์ยกขึ้นฎีกา โต้แย้งแต่อย่างใด ฎีกาโจทก์ปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น แล้วศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินกันราคาไร่ละ 300,000 บาท
พิพากษายืน