คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2601/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อบิดามารดาหย่าขาดจากกันโดยตกลงให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของมารดา ดังนั้น บิดาย่อมไม่มีอำนาจปกครองบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520,1566(6) อำนาจปกครองจึงตกแก่มารดาแต่ผู้เดียว มารดาจึงมีอำนาจให้ความยินยอมในการที่บุคคลภายนอกจะรับบุตรผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมได้เพียงลำพังโดยไม่จำต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้สั่งอนุญาตแทนบิดาอีก

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายบ. มีความประสงค์ขอรับเด็กชายน.บุตรของนายว. กับนางป. เป็นบุตรบุญธรรม นายว. กับนางป.หย่าขาดจากกัน โดยตกลงให้เด็กชาย น. อยู่ในอำนาจปกครองของนางป. ต่อมานาง ป. จดทะเบียนสมรสกับนายบ. และร่วมให้ความอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย น. ตลอดมา โดยที่นาย ว.ไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูเลย นางป. ได้ยินยอมให้เด็กชาย น.เป็นบุตรบุญธรรมของนายบ. แล้ว แต่ไม่สามารถติดตามตัวนาย ว.มาให้ความยินยอมได้ ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้นาย บ. รับเด็กชาย น. เป็นบุตรบุญธรรม
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ให้งดการไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่นายว. กับนาง ป. จดทะเบียนหย่าโดยมีข้อตกลงให้เด็กชาย น. อยู่ในอำนาจปกครองของนาง ป.มารดา ย่อมทำให้นาย ว. บิดาไม่มีอำนาจปกครองเด็กชาย น.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520, 1566(6) เป็นผลให้อำนาจปกครองตกอยู่แก่นาง ป. มารดาแต่เพียงผู้เดียวและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/21 กำหนดให้การรับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมจากบิดาหรือมารดาซึ่งยังมีอำนาจปกครองอยู่นาง ป. จึงมีอำนาจให้ความยินยอมได้ โดยไม่จำต้องให้นาย ว.ซึ่งหมดอำนาจปกครองไปแล้วมาให้ความยินยอมด้วย เมื่อนาง ป.ยินยอมให้เด็กชาย น. เป็นบุตรบุญธรรมของนาย บ. แล้วก็ชอบที่จะไปดำเนินการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 ต่อไปผู้ร้องจึงไม่จำต้องใช้สิทธิทางศาลขอให้สั่งอนุญาตแทนนาย ว. อีก
พิพากษายืน

Share