คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2600/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ยาเส้นพันธุ์พื้นเมืองผสมกับยาเส้นจากใบยาพันธุ์เวอร์ยิเนียเป็นยาเส้นปรุง
ยาเส้นบรรจุกระป๋องปิดแสตมป์ไปบ้างแล้วแต่ไม่ครบถ้วนเป็นการเตรียมเพื่อนำออกจำหน่าย จึงต้องปิดแสตมป์ให้ครบถ้วน เมื่อไม่ปิดแสตมป์ให้ครบถ้วนมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 48
ความผิดฐานมีแสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้วไว้ในครอบครองตามมาตรา 43 นั้น เพียงแต่มีแสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้วไว้ในครอบครองเพื่อนำออกใช้ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ไม่จำต้องนำแสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้วไปใช้อีกเสียก่อนจึงจะเป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมคือ ประกอบอุตสาหกรรมยาเส้นปรุงเพื่อการค้าโดยไม่รับอนุญาต มีแสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้วไว้ในครอบครองเพื่อนำออกใช้อีก ปิดแสตมป์ยาสูบบนสลากผิดวิธีตามประกาศและปิดแสตมป์ยาสูบไม่ครบจำนวนตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 4, 5, 17, 18, 19, 42, 43, 47, 48, 49, 53 พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511 มาตรา 4 ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่องวิธีการปิดและขีดฆ่าแสตมป์ยาสูบ ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2517 กฎกระทรวงฉบับที่ 4 พ.ศ. 2512 ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 รายการ (7) ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2512 ริบยาเส้นปรุง 20 ลัง เมนทอล 4 กระป๋อง น้ำยายี่ห้อบาร์เนทโฟสเตอร์ 8 ขวด น้ำยาที่ผสมแล้ว 5 ขวด เครื่องพ่นน้ำยา 1 ชุด แสตมป์ที่ใช้แล้ว 340 ดวง ของกลางนอกนั้นคืนจำเลย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 ฐานประกอบอุตสาหกรรมยาเส้นปรุงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 17 ประกอบด้วยมาตรา 48 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2512 มาตรา 16 ให้ปรับ 4,000 บาท ฐานมีแสตมป์ยาสูบที่ใช้แล้วไว้ในความครอบครองเพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นแสตมป์ใช้แล้วตามมาตรา 43 ประกอบด้วยมาตรา 53 ให้ปรับ2,000 บาท ฐานปิดและขีดฆ่าแสตมป์ยาสูบไม่เป็นไปตามวิธีการที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 42 ประกอบด้วยมาตรา 46 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2512 มาตรา 15 และประกาศกรมสรรพสามิตเรื่องวิธีการปิดและขีดฆ่าแสตมป์ยาสูบ ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ให้ปรับ500 บาท ฐานปิดแสตมป์ยาสูบไม่ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 19 ประกอบด้วยมาตรา 49 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2512 มาตรา 17 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2512)ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา (7) ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2512 ให้ปรับ 26,296.20 บาท รวมปรับจำเลย 32,796.20 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบยาเส้น ปรุง 20 ลัง เมนทอล 4 กระป๋อง น้ำยายี่ห้อบาร์เนทโฟสเตอร์ 8 ขวด น้ำยาที่ผสมแล้ว 5 ขวด เครื่องพ่นน้ำยา 1 ชุด แสตมป์ที่ใช้แล้ว 340 ดวงส่วนของกลางนอกนั้นคืนจำเลย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เชื่อว่าจำเลยกระทำผิดทุกข้อหาตามฟ้องแต่ความผิดฐานปิดแสตมป์ยาสูบไม่ครบจำนวนเป็นความผิดตามมาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 48 ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 19 ประกอบด้วยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 ไม่ถูกต้องจึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปิดแสตมป์ยาสูบไม่ครบจำนวนตามที่กำหนดในกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2512) ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2512 ตามมาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 48 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2512 มาตรา 16 ให้ปรับจำเลย 6,000 บาท รวมปรับจำเลย 12,500 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในข้อหาความผิดฐานปิดแสตมป์ยาสูบไม่ครบจำนวนซึ่งจำเลยฎีกาว่า ยาเส้นที่ถูกจับไม่ใช่ยาเส้นปรุง จำเลยปิดแสตมป์ยาเส้นในจำนวน 10 กรัม ต่อ 1 สตางค์ เป็นการถูกต้องแล้ว จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 18 และจะเป็นความผิดตามมาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 48 จะต้องเป็นกรณีทำยาเส้นเสร็จแล้วจะนำออกจากโรงงานอุตสาหกรรมของจำเลยจึงต้องปิดแสตมป์เสียก่อนนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ายาเส้นของกลางบรรจุกระป๋องเป็นยาเส้นปรุงโดยใช้ยาเส้นจากใบยาพันธุ์ยาสูบพื้นเมืองกับยาเส้นจากใบยาพันธ์ยาสูบเวอร์ยิเนียผสมกัน ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าเป็นยาเส้นปรุง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนข้อกฎหมายตามฎีกาจำเลยที่ว่า จำเลยยังทำยาเส้นไม่เสร็จการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 48 ต้องเป็นกรณีจำเลยทำเสร็จแล้วเตรียมส่งออกจำหน่าย จะต้องปิดแสตมป์ให้ครบถ้วนเห็นว่า ยาเส้นปรุงบรรจุกระป๋องจำนวน 2202 กระป๋องของกลาง จำเลยได้ปิดแสตมป์แล้ว แสดงอยู่ว่าจำเลยได้ทำยาเส้นปรุงเสร็จแล้ว ส่วนการเตรียมส่งออกจำหน่ายจำเลยก็รับว่าจำเลยผลิตส่งไปขายทั่ว ๆ ไปจึงเป็นการเตรียมเพื่อนำออกจากโรงงานของจำเลยไปจำหน่ายซึ่งยาเส้นปรุง ต้องปิดแสตมป์ยาสูบให้ครบจำนวนก่อนนำออกจากโรงงานของจำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 48 ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา

จำเลยฎีกาข้อ ข. ในความผิดฐานมีแสตมป์ยาสูบใช้แล้วไว้ในความครอบครองเพื่อนำออกใช้อีก จำเลยฎีกาว่าจะเป็นความผิดต้องได้ความชัดว่าจำเลยได้นำแสตมป์ยาสูบใช้แล้วไปใช้อีก เห็นว่า มาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 บัญญัติไว้ชัดว่ามีแสตมป์ยาสูบใช้แล้วไว้ในความครอบครองเพื่อนำออกใช้อีก ก็เป็นความผิดแล้ว กรณีจึงมิใช่ต้องนำแสตมป์ยาสูบใช้แล้วไปใช้อีกเสียก่อนจึงจะเป็นความผิดดังจำเลยเข้าใจ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

พิพากษายืน

Share