คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2594/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงหรือเหตุที่ทำให้ศาลเชื่อหรือสงสัยว่าจำเลย เป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้นั้น อาจเป็นเพราะ ศาลสังเกตเห็นจากอากัปกิริยาของจำเลยเอง หรือมีผู้เสนอ ข้อเท็จจริงให้ศาลทราบก็ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ มิได้พิจารณาคำร้องของธ.น้องจำเลยที่อ้างว่าจำเลยวิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณา และพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ก่อนไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็ยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และศาลฎีกามีอำนาจตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 208(2) ประกอบด้วยมาตรา 225 สั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องต่อไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(9) วรรคแรก จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 หรือไม่เห็นว่า ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นนายธวัช หงส์สิริลักษณ์ น้องจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นพร้อมใบตรวจโรคของแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาว่าจำเลยเป็นโรคจิตเภท มีอาการระแวง พูดจาวกวน จำเลยเป็นผู้ป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยามาตั้งแต่ พ.ศ. 2530 โรงพยาบาลรับตัวจำเลยไว้รักษารวม 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2540และหลังเกิดเหตุคดีนี้เพียง 3 วัน โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาก็ได้รับตัวจำเลยไว้รักษาอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้จำเลยมีอาการ หงุดหงิดง่าย พูดและยิ้มคนเดียวโรงพยาบาลจำต้องดูแลรักษาต่อไป อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้อาการกำเริบยิ่งขึ้น ตามใบตรวจโรคของแพทย์เอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 5 กรณีจึงมีเหตุควรเชื่อในเบื้องต้นว่าจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ศาลชอบที่จะสั่งให้แพทย์ตรวจจำเลยโดยละเอียดแล้วเรียกแพทย์ผู้ตรวจมาให้ถ้อยคำต่อศาล หรือมาให้การว่าตรวจได้ผลประการใดคือวิกลจริตถึงขนาดไม่สามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่เสียก่อน แล้วจึงพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป อนึ่งข้อเท็จจริงหรือเหตุที่ทำให้ศาลเชื่อหรือสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้อาจเป็นเพราะศาลสังเกตเห็นจากอากัปกิริยาของจำเลยเองหรือมีผู้เสนอข้อเท็จจริงให้ศาลทราบก็ได้ ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้พิจารณาคำร้องของ นายธวัชน้องจำเลยที่อ้างว่าจำเลยวิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ก่อนจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็ยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสองประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15ศาลฎีกาเห็นสมควรรับวินิจฉัยให้และศาลฎีกามีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2) ประกอบด้วยมาตรา 225 สั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องต่อไปได้”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นส่งตัวจำเลยไปให้แพทย์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาหรือโรงพยาบาลอื่นที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรตรวจสภาพจิตและเรียกแพทย์ผู้ตรวจจำเลยมาให้ถ้อยคำหรือให้การต่อศาลว่าตรวจได้ผลประการใด แล้วดำเนินการพิจารณาพิพากษาไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14

Share