คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 4 (2) มิได้บัญญัติว่าเครื่องกระสุนปืนมีความหมายรวมถึงพลุแต่ประการใด ฉะนั้น พลุสดุดส่องแสงแบบเอ็ม .49 เอ 1 ของกลาง จึงไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน การที่จำเลยมีพลุดังกล่าวไว้ในครอบครองย่อมไม่เป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพสำหรับความผิดในข้อหานี้ก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแล้ว ก็ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ และต้องคืนพลุสดุดส่องแสงของกลางแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 38, 47, 55, 72, 74, 77, 78 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 15, 42, 52 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 57, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 และให้ริบของกลางทั้งหมด เว้นแต่อาวุธปืนขนาด .32 พร้อมซองกระสุน ขนาด .32 อาวุธปืนขนาด 9 มม. พร้อมซองกระสุนขนาด 9 มม. อาวุธปืนขนาด 6.35 มม. พร้อมซองกระสุนขนาด 6.35 มม. อาวุธปืนขนาด .22 พร้อมซองกระสุนขนาด .22 และอาวุธปืนลูกซองยาวขนาด 410 ใช้กับกระสุนปืนขนาด .22 ให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 38 วรรคหนึ่ง, 47, 55, 72 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม, 74, 77, 78 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 22, 23 พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 42 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน ส่วนของอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต (ที่ถูก ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 1 ปี ฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี ฐานทำวัตถุระเบิด จำคุก 2 ปี ฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี ฐานทำดอกไม้เพลิงโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 1,000 บาท ฐานมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 20,000 บาท ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 20,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเฉพาะในข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ และพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม ส่วนข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 14 เดือน และปรับ 20,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางเว้นแต่อาวุธปืนขนาด .32 พร้อมซองกระสุนขนาด .32 อาวุธปืนขนาด 9 มม. พร้อมซองกระสุนขนาด 9 มม. อาวุธปืนขนาด 6.35 มม. พร้อมซองกระสุนขนาด 6.35 มม. อาวุธปืนขนาด .22 พร้อมซองกระสุนปืนขนาด .22 และอาวุธปืนลูกซองยาวขนาด 410 ใช้กับกระสุนปืนขนาด .22 ให้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 (ที่แก้ไขใหม่) ฐานมีเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองเป็นกรรมเดียวกัน จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษกระทงอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกรวม 2 ปี 14 เดือน และปรับ 20,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ และพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม ตามฟ้องมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยได้กระทำความผิดข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ โจทก์มีร้อยโทบุญยิ่ง คงเกตุ เป็นพยานเบิกความว่า ขณะที่ไปจับกุมจำเลยที่บ้านของจำเลยพบจำเลยอยู่ในอาการมึนเมาพูดจาวกวนและพบกระดาษตะกั่วที่ถูกไฟลนจึงส่งปัสสาวะของจำเลยไปตรวจ ปรากฏว่าพบสารเมทแอมเฟตามีนอยู่ในปัสสาวะของจำเลย เห็นว่า ร้อยโทบุญยิ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุที่จะเบิกความกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ เชื่อว่าเบิกความไปตามความเป็นจริง เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและพฤติการณ์ที่จำเลยอยู่ในลักษณะอาการมึนเมา จึงเชื่อว่าจำเลยได้เสพเมทแอมเฟตามีนจริง ที่จำเลยอ้างว่าได้รับประทานยาแก้หวัดและยาแก้ไอหลายชนิดนั้น เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งโจทก์ยังมีนายแพทย์โสฬส ธนิกกุล เป็นพยานเบิกความยืนยันว่าหากเป็นการรับประทานยาแก้ไอจริงต้องรับประทานจำนวน 10 ขวด ต่อครั้ง จึงจะตรวจพบสารเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะรับประทานยาแก้ไอปริมาณมากขนาดนั้น นอกจากนี้ขณะจับกุมจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาการไอและไม่มีขวดยาแก้ไอมาแสดง พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนจริง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ของกลางตามฟ้องที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายมีเป็นจำนวนมาก ทั้งอาวุธปืน กระสุนปืนขนาดต่าง ๆ และวัตถุระเบิดซึ่งล้วนมีอานุภาพร้ายแรง และจำเลยยังเสพเมทแอมเฟตามีนจนอยู่ในอาการมึนเมาอีก ถือว่าเป็นภัยต่อความสงบสุขของประชาชนส่วนรวม การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งโทษที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นเป็นโทษสถานเบานับว่าเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข แม้จำเลยจะไม่เคยกระทำความผิดและเคยรับราชการมาก่อนก็ตามก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 พ.ศ.2490 มาตรา 4 (2) บัญญัติว่า “เครื่องกระสุนปืน” หมายความรวบตลอดถึง กระสุนโดด กระสุนปราย กระสุนแตก ลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิดและจรวด ทั้งชนิดที่มีหรือไม่มีกรด แก๊ส เชื้อเพลิง เชื้อโรค ไอพิษ หมอกหรือควัน หรือกระสุน ลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด และจรวดที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกันหรือเครื่องหรือสิ่งสำหรับอัดหรือทำ หรือใช้ประกอบเครื่องกระสุนปืน โดยมิได้บัญญัติว่าเครื่องกระสุนปืนมีความหมายรวมถึงพลุแต่ประการใด ฉะนั้น พลุสดุดส่องแสงแบบเอ็ม .49 เอ 1 ของกลาง จึงไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน การที่จำเลยมีพลุดังกล่าวไว้ในครอบครองย่อมไม่เป็นความผิดดังที่โจทก์ฟ้อง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพสำหรับความผิดในข้อหานี้ก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดแล้ว ก็ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ ส่วนพลุสดุดส่องแสงของกลางนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จึงต้องคืนพลุสดุดส่องแสงของกลางแก่จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าพลุสดุดส่องแสงแบบเอ็ม .49 เอ 1 เป็นเครื่องกระสุนปืนตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะในส่วนที่มีพลุสดุดส่องแสงเอ็ม .49 เอ 1 ไว้ในครอบครอง และให้คืนพลุสดุดส่องแสงเอ็ม .49 เอ 1 ของกลางให้แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share