คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมรถยนต์ของกลางเป็นของ น. น.ได้กู้เงินจากผู้ร้องโดยโอนรถของกลางให้ผู้ร้องและทำสัญญาเช่าซื้อรถนั้นจากผู้ร้องกำหนดราคาเช่าซื้อ 70,800 บาท แบ่งชำระเป็นรายเดือนรวม 12เดือน ๆ ละ 5,900 บาท น. ขาดส่งค่าเช่าซื้องวดแรก 3-4 เดือนจึงขายหสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถของกลางให้แก่จำเลยที่ 3และได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบ จำเลยที่ 3 ส่งค่าเช่าซื้อตลอดมาได้ 11 งวด คงค้างงวดสุดท้าย ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ชำระเงินค่าเช่าซื้อผิดนัดทุกงวด แม้งวดสุดท้ายจะผิดนัด ก็เชื่อได้ว่าเมื่อจำเลยที่ 3 ชำระเงินงวดสุดท้ายผู้ร้องก็จะต้องโอนทะเบียนรถให้แก่จำเลยที่ 3 แน่ พฤติการณ์ที่ผู้ร้องขอคืนของกลางก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จะคืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้องหาชอบไม่.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน บ-1615จันทบุรีของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด ขอให้ศาลสั่งคืนแก่ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ได้ความจากใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย ร.2 ว่ารถยนต์กระบะบรรทุกหมายเลขทะเบียน บ-1615จันทบุรี นายนิยม เกียรติพิริยะ เป็นเจ้าของครอบครองรถเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2526 ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2527 บริษัทบูรพาจันทบุรีจำกัด ผู้ร้องรับโอนเป็นเจ้าของรถแล้วได้ทำสัญญาเช่าซื้อลงวันเดียวกันให้นายนิยม เกียรติพิริยะ เช่าซื้อเป็นเงิน 70,800 บาทแบ่งชำระเป็นรายเดือนรวม 12 เดือน เดือนละ 5,900 บาท ตามเอกสารหมาย ร.3 หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้วนายนิยมไม่มีเงินค่าเช่าซื้องวดแรกขาดส่งประมาณ 3-4 เดือน นายนิยมกลัวว่าผู้ร้องจะยึดรถจึงบอกขายให้จำเลยที่ 3 ในราคา 15,000 บาท ซึ่งจำเลยที่3 จะต้องผ่อนชำระเงินตามงวดให้แก่ผู้ร้องอีกต่างหากด้วยนายนิยมนำจำเลยที่ 3 ไปแจ้งให้ผู้ร้องทราบ แล้วจำเลยที่ 3ก็ส่งค่าเช่าซื้อตลอดมาได้ 11 งวด คงค้างงวดสุดท้ายซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 12 มกราคม 2528 อยู่เป็นเงิน 5,900 บาท เงินงวดนี้ค้างอยู่จนกระทั่งรถยนต์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2528 นับเวลาได้ 3 เดือนเศษ ผู้ร้องก็มิได้ติดตามทวงถามหรือยึดรถหรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบเพื่อขอคืนผู้ร้องให้กู้เงินโดยวิธีให้ผู้กู้โอนทะเบียนรถให้แล้วทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมิได้ถือโดยเคร่งครัดว่าการผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นการผิดสัญญาซึ่งจะต้องยึดเอารถยนต์คืนแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากบัญชีการชำระเงินค่าเช่าซื้อเอกสารหมาย ร.4 ปรากฏว่าผู้เช่าซื้อผิดนัดทุกงวด เมื่อนำเงินมาชำระก็ต้องเสียดอกเบี้ยเวลาที่ล่าช้าเป็นรายวันเช่นงวดที่ 1 ล่าช้า 79 วัน เป็นเงินค่าดอกเบี้ยของการล่าช้า191 บาท งวดที่ 11 ล่าช้า 88 วัน เป็นค่าดอกเบี้ยของการล่าช้าเป็นเงิน 213 บาท เป็นต้น รถของกลางราคานับแสน แม้ชื่อตามทะเบียนรถจะเป็นของผู้ร้อง แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองใช้สอยทั้งส่งเงินให้ผู้ร้องไปมากแล้ว เหลือเงินงวดสุดท้ายเพียง 5,900 บาทเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ชำระเงินงวดนี้พร้อมด้วยค่าดอกเบี้ยของการล่าช้าให้แก่ผู้ร้องเมื่อใด ก็เชื่อได้ว่าผู้ร้องจะต้องโอนทะเบียนรถให้แก่จำเลยที่ 3 พฤติการณ์เห็นได้ว่าผู้ร้องร้องขอของกลางคืนเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 3 เป็นส่วนใหญ่ ผู้ร้องหาได้ใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ ดังนี้ จะคืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้องหาชอบไม่ ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share