คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2584/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นหน่วยงานราชการในสังกัดของกรมตำรวจโจทก์แต่บรรดาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของกองบังคับการตำรวจรถไฟ เช่น เงินเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยงค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตรของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายจากเงินงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งสิ้นโดยกรมตำรวจโจทก์ไม่มีหน้าที่จัดสรรเงินงบประมาณเพื่อการนี้ให้แก่กองบังคับการตำรวจรถไฟแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้จ่ายเงินตามฎีกาเบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยง เงินต่าง ๆ รวม 33 ครั้งจำนวน 168 ฎีกาตามที่กองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นผู้ตั้งฎีกาเบิกเพื่อนำไปจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟตามสิทธิแต่ร้อยตำรวจเอก บ. สมุห์บัญชีของกองบังคับการตำรวจรถไฟได้ทุจริตเบียดบังยักยอกเงินตามฎีกาทั้งหมดไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเสียเช่นนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของเงินงบประมาณที่เบิกจ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงหรือเงินต่าง ๆ ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นผู้เสียหายในเรื่องนี้ไม่ใช่กรมตำรวจโจทก์ แม้ฎีกาเบิกเงินได้แนบใบเบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้ขอเบิกและตามหลักฐานระบุว่าได้รับเงินไปครบถ้วนโดยลงนามรับเงินแล้วก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้ขอเบิกยังมิได้รับเงินที่เบิกไปตามที่ ลงนามไว้ในใบเบิกเพราะเงินนั้นถูกยักยอกไปเสียก่อนการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงยังมิได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้ขอเบิกแม้จะมีการตั้งฎีกาเบิกและสมุห์บัญชีกองบังคับการตำรวจรถไฟรับเงินจำนวนที่เบิกไปจากกองคลังเงินการรถไฟแล้วเงินจำนวนนั้นก็ยังคงเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ หาใช่เงินของกรมตำรวจโจทก์ไม่เมื่อมีการเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จึงไม่ใช่เป็นการเบียดบังเอาเงินของกรมตำรวจโจทก์โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเงิน จึงไม่ถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายอันจะมีอำนาจฟ้องเรียกคืนเงินดังกล่าวจากจำเลยได้ กรณีนี้แม้ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาที่ร้อยตำรวจเอกบ.เป็นจำเลยให้ร้อยตำรวจเอก บ. คืนหรือใช้เงินจำนวนที่ยักยอกไปให้แก่กองบังคับการตำรวจรถไฟ กรมตำรวจก็ตามแต่คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาดังกล่าว หามีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้ซึ่งมิใช่เป็นคู่ความในคดีอาญาให้จำต้องถือตามไม่เมื่อข้อเท็จจริงในคดีแพ่งนี้รับฟังได้ว่า เงินจำนวนตามฟ้องที่ถูกร้อยตำรวจเอก บ.สมุห์บัญชีกองบังคับการ ตำรวจรถไฟทุจริตเบียดบัง ยักยอกไปเป็นประโยชน์ส่วนตนมิใช่เป็นเงินงบประมาณของกรมตำรวจโจทก์โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องร้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมรับผิดในเงินจำนวนนี้กับร้อยตำรวจเอกบ. จำเลยในคดีอาญานั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องใจความว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล กองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นส่วนราชการของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการตำรวจรถไฟมีหน้าที่ควบคุมดูแลปกครองบังคับบัญชาตำรวจรถไฟทั้งหมด ให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการไปตามกฎหมายระเบียบแบบแผนของโจทก์ รวมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินทั้งสิ้น จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการของโจทก์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้บังคับการตำรวจรถไฟ มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับการตำรวจรถไฟ ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยทั้งสองเมื่อลงนามในฎีกาเบิกเงินแล้วต่างมิได้ไปรับเงินจากกองคลังเงินการรถไฟด้วยตนเอง แต่ได้มอบให้ร้อยตำรวจเอกบุรินทร์ นุตนก สมุห์บัญชีกองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นผู้รับแทน เมื่อร้อยตำรวจเอกบุรินทร์รับเงินแล้ว จำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อไม่ควบคุมตรวจสอบจำนวนเงินว่ามีการรับเงินมาครบถ้วนตามฎีกาเบิกเงินที่ตั้งเบิกไปนั้นหรือไม่ จนเป็นเหตุให้ร้อยตำรวจเอกบุรินทร์ยักยอกเอาเงินของกองบังคับการตำรวจรถไฟไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต ในระหว่างวันที่ 28สิงหาคม 2518 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2518 รวม 33 ครั้ง จำนวน 168 ฎีกา เป็นจำนวนเงิน 1,326,779 บาท 93 สตางค์ สำหรับร้อยตำรวจเอกบุรินทร์ สมุห์บัญชีนั้น พนักงานอัยการได้นำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเบียดบังยักยอกทรัพย์ และศาลอาญาพิพากษาลงโทษ คดีถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก และให้คืนหรือใช้เงินจำนวน 1,326,779 บาท 93 สตางค์แก่กองบังคับการตำรวจรถไฟ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเป็นจำนวนเงิน1,326,779 บาท 93 สตางค์ตามที่ร้อยตำรวจเอกบุรินทร์ทุจริตเบียดบังยักยอกไปและจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในจำนวนเงิน 1,281,236 บาท 18 สตางค์ ซึ่งจำเลยที่ 2เป็นผู้ลงนามในฎีกาเบิกเงินและให้ร้อยตำรวจเอกบุรินทร์รับเงินตามฎีกาจำนวน163 ฎีกา เป็นจำนวนเงินดังกล่าวนั้นแทน จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยที่ 1ชดใช้เงิน 1,326,779 บาท 93 สตางค์ และจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้เงิน1,281,236 บาท 18 สตางค์ ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลหมายเรียกพลตำรวจตรีนิพัทธ์ สรณารักษ์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตโดยให้เรียกพลตำรวจตรีนิพัทธ์ สรณรักษ์ว่าจำเลยที่ 3

จำเลยทั้งสามให้การในทำนองเดียวกันว่า เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2494 ประกอบกับข้อบังคับฉบับที่ 4 ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ตราไว้ว่ากองบังคับการตำรวจรถไฟขึ้นอยู่ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ดังนี้จำเลยที่ 1 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่อยู่ในกองบังคับการตำรวจรถไฟแม้จะเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ แต่จำเลยก็ต้องปฏิบัติราชการตามคำสั่งของผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยตรง หาได้ขึ้นต่อโจทก์ดังฟ้องไม่ การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นตรงต่อกระทรวงคมนาคม มิได้ขึ้นตรงต่อกรมตำรวจโจทก์ การเงินต่าง ๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีงบค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะ มิได้เบิกจ่ายจากงบประมาณของกรมตำรวจแต่อย่างใดทั้งสิ้น ค่าใช้จ่ายทั้งปวงบรรดามีของกองบังคับการตำรวจรถไฟ เช่น เงินเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยงทำการ ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น ต้องเบิกโดยตรงจากแผนกคลังของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยหักจ่ายจากงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทย หาได้เกี่ยวกับโจทก์แต่ประการใดไม่ ดังนั้นเงินจำนวนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าร้อยตำรวจเอกบุรินทร์ยักยอกไปตามฟ้องจึงมิใช่เงินในงบประมาณหรือเงินส่วนใด ๆ ของกรมตำรวจโจทก์ และกรมตำรวจโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชดใช้เงินที่ถูกยักยอกไปนี้กรมตำรวจโจทก์จึงมิได้รับความเสียหายจากการยักยอกเงินที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ต้องจ่ายและไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิ ดังนั้น กรมตำรวจโจทก์มิใช่ผู้เสียหายจากการกระทำละเมิด ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเสียเอง เป็นสิทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้เบิกเงินแล้วแต่ไม่ได้รับเงินจำนวนที่ขอเบิกเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ กรมตำรวจโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งฟ้องโจทก์ยังขาดอายุความเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิด จำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติหน้าที่ไปโดยชอบด้วยระเบียบแบบแผน ไม่ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ร้อยตำรวจเอกบุรินทร์เบียดบังยักยอกเงินไปดังฟ้องอันจะถือเป็นเหตุละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นยุติว่า กองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นหน่วยราชการในสังกัดของกรมตำรวจโจทก์ แต่ค่าใช้จ่ายทั้งปวงของกองบังคับการตำรวจรถไฟบรรดามี เช่น เงินเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยงทำการ ค่ารักษาพยาบาลค่าเล่าเรียนบุตร ฯลฯ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายจากเงินงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งหมดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกองบังคับการตำรวจรถไฟจะเป็นผู้ตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงินจากแผนกคลังของการรถไฟแห่งประเทศไทย แล้วนำไปจ่ายแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้มีสิทธิได้รับเงินจำนวนนั้นต่อไปตามระเบียบของทางราชการ ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจรถไฟ จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจรถไฟ และเป็นผู้บังคับบัญชาของร้อยตำรวจเอกบุรินทร์ นุตนก สมุห์บัญชีกองบังคับการตำรวจรถไฟ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ลงนามในฎีกาเบิกเงินต่าง ๆ ของกองบังคับการตำรวจรถไฟจากแผนกคลัง การรถไฟแห่งประเทศไทยระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2519 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2518 ร้อยตำรวจเอกบุรินทร์ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้นำฎีกาเบิกเงินต่าง ๆ ของกองบังคับการตำรวจรถไฟไปเบิกเงินจากแผนกคลังการรถไฟแห่งประเทศไทย รวม 33 ครั้ง จำนวน 168 ฎีกา รวมเป็นเงิน 1,326,779 บาท 93 สตางค์ เพื่อนำมาจ่ายให้แก่หน้าที่ตำรวจรถไฟตามสิทธิ เมื่อร้อยตำรวจเอกบุรินทร์รับเงินจำนวนดังกล่าวมาจากแผนกคลังการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว แทนที่จะนำไปจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้มีสิทธิตามฎีกาที่ตั้งเบิกเงินไปร้อยตำรวจเอกบุรินทร์กลับทุจริตเบียดบังยักยอกเงินจำนวนนี้ทั้งหมดไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเสีย เป็นเหตุให้ถูกฟ้องดำเนินคดีอาญา ในข้อหาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เบียดบังยักยอกทรัพย์ ศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกร้อยตำรวจเอกบุรินทร์และชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่กองบังคับการตำรวจรถไฟ คดีถึงที่สุดแล้ว

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นที่จะวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ในเบื้องต้นว่า กรมตำรวจเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชดใช้เงินจำนวนนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้กองบังคับการตำรวจรถไฟจะเป็นหน่วยราชการในสังกัดของกรมตำรวจโจทก์ แต่บรรดาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของกองบังคับการตำรวจรถไฟ เช่น เงินเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตรของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายจากเงินงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งสิ้น โดยกรมตำรวจโจทก์ไม่มีหน้าที่จัดสรรเงินงบประมาณเพื่อการนี้ให้แก่กองบังคับการตำรวจรถไฟแต่อย่างใด กรณีคดีนี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตรงกันว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้จ่ายเงินตามฎีกาเบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยง เงินต่าง ๆ รวม 33 ครั้ง จำนวน 168 ฎีกาตามที่กองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นผู้ตั้งฎีกาเบิก เพื่อนำไปจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟตามสิทธิ แต่ร้อยตำรวจเอกบุรินทร์สมุห์บัญชีของกองบังคับการตำรวจรถไฟได้ทุจริตเบียดบังยักยอกเงินตามฎีกาทั้งหมดไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเสียดังนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าขอเงินงบประมาณที่เบิกจ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง หรือเงินต่าง ๆ ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นผู้เสียหายในเรื่องนี้ ไม่ใช่กรมตำรวจโจทก์เป็นผู้เสียหายดังที่โจทก์ฎีกา

ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ฎีกาเบิกเงินทุกฉบับที่กองบังคับการตำรวจรถไฟตั้งเบิกมานั้นได้แนบใบเงินค่าเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟซึ่งตามหลักฐานระบุว่า ตำรวจรถไฟผู้ขอเบิกได้รับเงินไปครบถ้วนโดยลงนามรับเงินไปแล้วทุกคนการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงหมดข้อผูกพันที่จะต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟเหล่านั้นอีกการจ่ายเงินตามฎีกาของผู้บังคับการตำรวจรถไฟเป็นเพียงเบิกคืนเท่านั้น เมื่อผู้ตั้งเบิกมอบหมายให้ผู้อื่นรับเงินแทน และการรถไฟแห่งประเทศไทยจ่ายเงินให้ผู้นั้นรับไปถูกต้องแล้วจึงเท่ากับได้จ่ายให้ผู้เบิกรับเงินไปแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงหมดข้อผูกพันหรือความรับผิดชอบในเงินนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายแต่อย่างใด เห็นว่า แม้ฎีกาเบิกเงินได้ใบเบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้ขอเบิกและตามหลักฐานระบุว่าได้เงินไปครบถ้วนโดยลงนามรับเงินแล้วก็ตามแต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้ขอเบิกยังมิได้รับเงินที่เบิกไปตามที่ได้ลงนามไว้ในใบเบิกเพราะเงินนั้นถูกยักยอกออกไปเสียก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟยังมิได้รับเงินหรือนัยหนึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยยังมิได้จ่ายเงินดังกล่าว แม้จะมีการตั้งฎีกาเบิกและสมุห์บัญชีกองบังคับการตำรวจรถไฟรับเงินจำนวนที่เบิกไปจากกองคลังเงินการรถไฟแล้วเงินจำนวนนั้นก็ยังคงเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่หาใช่เงินของกรมตำรวจโจทก์ไม่ เมื่อมีการเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว จึงไม่ใช่เป็นการเบียดบังเอาเงินของกรมตำรวจโจทก์ โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเงิน จึงไม่ถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายอันจะมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ส่วนปัญหาที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้ขอเบิกจะมีสิทธิเรียกร้องเงินที่ยังไม่ได้รับตามสิทธิจากผู้ใดไม่เป็นประเด็นที่จักต้องวินิจฉัยในชั้นนั้น เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ทั้งกรณีนี้ก็ไม่อาจเทียบได้กับการเบิกเงินของกรมต่าง ๆ อันเป็นส่วนราชการที่ตั้งฎีกาเบิกจากกรมบัญชีกลาง เพราะเงินที่กรมต่าง ๆ ตั้งฎีกาเบิกมานั้นเป็นเงินงบประมาณในส่วนราชการของกรมนั้น ๆ เอง แต่เงินที่กองบังคับการตำรวจรถไฟต้องฎีกาเบิกตามฟ้องหาใช่เป็นเงินงบประมาณของกรมตำรวจไม่ กรมตำรวจจึงไม่ใช่ผู้เสียหายดังที่โจทก์ฎีกา

ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า กรณีคดีนี้ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ร้อยตำรวจเอกบุรินทร์ จำเลยในคดีอาญาคืนหรือใช้เงินจำนวนตามฟ้องให้แก่กองบังคับการตำรวจรถไฟ กรมตำรวจโจทก์ ซึ่งกองบังคับการตำรวจรถไฟอยู่ภายใต้สังกัดจึงถือว่าเป็นผู้เสียหาย ชอบที่จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมรับผิดและกรมตำรวจโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาดังกล่าวหามีผลให้ผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2ในคดีแพ่งนี้ซึ่งมิใช่เป็นคู่ความในคดีอาญาให้จำต้องถือตามไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีแพ่งรับฟังได้ว่า เงินจำนวนตามฟ้องที่ถูกร้อยตำรวจเอกบุรินทร์สมุห์บัญชีกองบังคับคดีการตำรวจรถไฟทุจริตเบียดบังยักยอกไปเป็นประโยชน์ส่วนตนมิใช่เป็นเงินงบประมาณของกรมตำรวจโจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องร้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมรับผิดในเงินจำนวนนี้กับร้อยตำรวจเอกบุรินทร์จำเลยในคดีอาญานั้นได้ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในประเด็นข้ออื่นอีกต่อไปฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share