คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2583/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก ต. ซึ่งเป็นสามีของผู้ร้องสอดที่ 1 และบิดาของผู้ร้องสอดที่ 2 การที่ ต. และผู้ร้องสอดที่ 1เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโจทก์และ ต. เคยเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทโจทก์รวมทั้งเคยเป็นกรรมการบริหารบริษัทโจทก์มาก่อน ก็หาก่อให้ ต. เกิดสิทธิหรือหน้าที่ใด ๆในทรัพย์สินหรือหนี้สินของโจทก์เป็นการส่วนตัวไม่ หาก ต. นำสินสมรสระหว่าง ต. กับผู้ร้องสอดที่ 1 ไปลงทุนซื้อหุ้นของโจทก์ ต. คงมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งเท่านั้นการที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยตามสัญญาซื้อขายและฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าจากจำเลยหากโจทก์ชนะคดี เงินค่าสินค้าที่จำเลยต้องชำระย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ต. หาได้มีสิทธิใด ๆ ในเงินค่าสินค้าดังกล่าวไม่ จึงไม่ใช่เป็นสินสมรสหรือเป็นทรัพย์มรดกของ ต. จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเงินค่าสินค้าที่โจทก์ฟ้อง ที่จะขอให้ศาลให้ความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิเรียกร้องในเงินค่าสินค้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ไม่มีสิทธิที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายหนังกระบือ 14 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 183,236,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 138,292,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ โดยให้จำเลยนำเงินไปวางต่อศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 26668/2535 หากมีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลในคดีดังกล่าวให้จำเลยไม่ต้องนำเงินไปวางต่อศาลไม่ว่ากรณีใด ให้จำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องสอดทั้งสามยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องสอดทั้งสามเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลคดี เพราะเดิมผู้ร้องสอดที่ 1 กับนายเต็ม หล่อสกุลสินธ์ สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทโจทก์ขึ้นมา รายชื่อผู้ถือหุ้นรายอื่นเป็นเพียงเข้าชื่อร่วมให้ครบจำนวนบุคคลเพื่อให้สามารถจดทะเบียนนิติบุคคลได้เท่านั้น ทรัพย์สินต่าง ๆ หรือสิทธิเรียกร้องหนี้ค่าสินค้าอันมีต่อลูกค้าในฐานะที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ต่างเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 กับนายเต็มร่วมกันทำมาหาได้และมีส่วนได้เสียร่วมกันอย่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทั้งสิ้น เดิมนายเต็มเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ต่อมาได้ถูกบุคคลผู้มีชื่อเป็นกรรมการผู้มีอำนาจอยู่ในบริษัทโจทก์ปัจจุบันร่วมกันกระทำการโดยไม่ชอบ จนเข้ามามีชื่อถือหุ้นในบริษัทโจทก์แทนนายเต็ม และได้เปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารกิจการค้าในนามของโจทก์ไป จนนายเต็มไม่สามารถกระทำการหรือนิติกรรมใด ๆ ในนามของโจทก์ได้ นายเต็มและผู้ร้องสอดที่ 1 จึงได้ฟ้องเพิกถอนการโอนหุ้นต่อศาลแพ่ง ตามคดีหมายเลขดำที่ 26668/2535 โดยผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นโจทก์ โจทก์กับพวกเป็นจำเลย และนายเต็มเป็นผู้ร้องสอด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ต่อมานายเต็มได้ถึงแก่ความตาย หนี้ค่าสินค้าที่จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์ตามฟ้อง แม้จะมีชื่อโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ค่าสินค้าก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องค่าสินค้าล้วนเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 กับนายเต็มทั้งสิ้น ผู้ร้องสอดที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเงินค่าสินค้าในฐานะเป็นสินสมรสและเป็นทายาทของนายเต็ม ส่วนผู้ร้องสอดที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเงินค่าสินค้าซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายเต็ม ในฐานะทายาทของนายเต็มคนละ 1 ใน 12 ส่วน จึงเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ดังกล่าว ขอยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นเงินจำนวน 98,952,833 บาท ชำระหนี้แก่ผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นเงินจำนวน 7,634,833 บาท ชำระหนี้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 เป็นเงินจำนวน 7,634,833 บาท

โจทก์แถลงคัดค้านว่า ผู้ร้องสอดเข้ามาขอรับชำระหนี้ในนามส่วนตัว แต่หนี้ค่าสินค้าคดีนี้เป็นหนี้ที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ มิใช่เป็นหนี้ส่วนตัวของผู้ร้องสอดทั้งสาม ขอให้ยกคำร้องสอด

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องสอดทั้งสามไม่มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดี ให้ยกคำร้องสอด

ผู้ร้องสอดทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ว่าสมควรรับคำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ไว้พิจารณาหรือไม่ ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2494 ดังนั้น โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากนายเต็ม หล่อสกุลสินธ์ ซึ่งเป็นสามีของผู้ร้องสอดที่ 1 บิดาของผู้ร้องสอดที่ 2 แม้จะปรากฏว่า นายเต็มและผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโจทก์และนายเต็มเคยเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทโจทก์รวมทั้งเคยเป็นกรรมการบริหารบริษัทโจทก์มาก่อน ก็หาก่อให้นายเต็มเกิดสิทธิหรือหน้าที่ใด ๆ ในทรัพย์สินหรือหนี้สินของโจทก์เป็นการส่วนตัวไม่ หากนายเต็มนำสินสมรสระหว่างนายเต็มกับผู้ร้องสอดที่ 1 ไปลงทุนซื้อหุ้นของโจทก์ นายเต็มคงมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของโจทก์เท่านั้น คดีนี้โจทก์ในฐานะนิติบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามสัญญาซื้อขายและฟ้องเรียกเงินค่าสินค้าจากจำเลยตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลย หากโจทก์ชนะคดีเงินค่าสินค้าที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ นายเต็มในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทโจทก์หาได้มีสิทธิใด ๆ ในเงินค่าสินค้าดังกล่าวไม่ เงินค่าสินค้าดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นสินสมรสหรือเป็นทรัพย์มรดกของนายเต็มเมื่อนายเต็มถึงแก่ความตายตามที่ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 เข้าใจ กรณีตามคำร้องสอดถือไม่ได้ว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเงินค่าสินค้าที่โจทก์ฟ้อง ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะขอให้ศาลให้ความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิเรียกร้องในเงินค่าสินค้าที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 มานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share