แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย ต่อมาจำเลยแจ้งแก่ น. เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนสมรสว่า จำเลยไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนเลยอันเป็นเท็จ เพราะจำเลยกับโจทก์ยังเป็นสามีภริยากันโดยชอยด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานได้จดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับนางสาว ส. เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนถึงฐานะบุคคลของโจทก์ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิรับมรดกอยู่ก่อนแต่คนดียว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้รับความเสียหายในกรณีที่เกิดขึ้นโดยตรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) มีอำนาจฟ้องคดีฐานแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายนิธิซึ่งเป็นเจ้าพนักงานว่า จำเลยไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน ขอให้นายนิธิรับจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยกับนางสาวสุจิตรา นายนิธิหลงเชื่อยอมจดทะเบียนให้ ความจริงจำเลยได้จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายกับโจทก์มาก่อน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่เป็นผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๑๓ โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลย ณ สำนักทะเบียนอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ต่อมาวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๑๔ จำเลยแจ้งแก่นายนิธิเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จดทะเบียนสมรสเขตภาษีเจริญ ว่าจำเลยไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน อันเป็นความเท็จ เพราะจำเลยกับโจทก์ยังเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานได้จดทะเบียนสมรสให้จำเลยกับนางสาวสุจิตรา แล้ววินิจฉัยในปัญหาที่ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่นั้นว่า การจดทะเบียนสมรสคดีนี้เกิดขึ้นระหว่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ เดิมใช้บังคับ ดังนั้น แม้ข้อความอันเป็นเท็จที่จำเลยแจ้งแก่เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนสมรสจะเกี่ยวกับฐานส่วนตัวของจำเลยเอง และไม่มีข้อความพาดพิงถึงโจทก์ ดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ก็ตาม และแม้การสมรสผิดเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๕ (๓ เดิม) บุคคลใดจะอ้างว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะไม่ได้เพราะศาลยังมิได้พิพากษาว่าเป็นเช่นนั้นดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๘ เหตุนี้การสมรสระหว่างจำเลยกับนางสาวสุจิตราจึงมีผลอยู่ตามกฎหมาย ทำให้นางสาวสุจิตราเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่ง โจทก์มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งให้เพิกถอนการสมรสนั้นได้ตามมาตรา ๑๔๙๐ แต่การสมรสที่ถูกเพิกถอนไม่เป็นผลให้นางสาวสุจิตรา-ผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มาเพราะการสมรสนั้นตามมาตรา ๑๔๙๔ เช่น ถ้าจำเลยถึงแก่ความตายก่อนศาลสั่งให้เพิกถอนการสมรส นางสาวสุจิตราก็มีสิทธิในการรับมรกดในฐานเป็นภิริยาที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนถึงฐานะบุคคลของโจทก์ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิรับมรดกอยู่ก่อนแต่คนเดียว โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้รับความเสียหายในกรณีที่เกิดขึ้นโดยตรงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีเรื่องนี้ต่อศาลได้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๘ (๒)
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ประทับฟ้องไว้ ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาต่อไป และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.