แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินและตึกแถวของโจทก์จำเลยอยู่ติดกันและเดิม เป็นของเจ้าของคนเดียวกัน โจทก์จำเลยต่างเช่า จากเจ้าของเดิม ต่อมาที่ดินและตึกแถวที่โจทก์เช่า ตก เป็นของ ม. ส่วนที่ดินและตึกแถวที่จำเลยเช่าตก เป็นของ ช. แล้วต่อมาที่ดินและตึกแถวที่โจทก์เช่า ได้โอนกรรมสิทธิ์เป็นของโจทก์และส่วนที่จำเลยเช่า โอนกรรมสิทธิ์เป็นของจำเลย ระหว่างที่ดินและตึกแถวยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ ม.และ ช. นั้น จำเลยได้รื้อตึกแถวเก่าของตน แล้วปลูกสร้างขึ้นใหม่ภายในเขตแนวเดิม โจทก์รื้อครัวที่อยู่ด้าน หลังตึกแถวของโจทก์และติดกับผนังตึกด้าน ข้างตึกแถวจำเลยแล้วปลูกสร้างขึ้นใหม่พร้อมกันโดยใช้ผนังด้าน หลังของห้องครัวโจทก์กับผนังด้าน ข้างของตึกแถวจำเลยร่วมกัน และจ้างช่าง ปลูกสร้างคนเดียวกัน โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือ ม. ทักท้วงห้ามปราม แม้ว่าบางส่วนของที่ดินที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวนั้นจะอยู่ในโฉนด ที่โจทก์ซื้อ แต่จำเลยเข้าใจในขณะปลูกสร้างว่า ที่ดินตรงที่ปลูกสร้างนั้นเป็นที่ดินที่อยู่ในโฉนด ที่จำเลยเช่าจึงเป็นกรณีที่จำเลยอาศัยสิทธิของเจ้าของที่ดินตามสภาพที่เป็นอยู่ปลูกสร้างตึกแถวในที่ดินโจทก์ที่จำเลยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิปลูกสร้างได้ เป็นการปลูกโดยสุจริต เมื่อจำเลยเข้าครอบครองที่ดินในส่วนที่รุกล้ำที่ดินโจทก์สืบสิทธิของ ช. โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่จำเลยได้ปลูกสร้างตึกแถวนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโจทก์ส่วนที่ถูกตึกแถวจำเลยปลูกรุกล้ำโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 6037, 6138และบ้านเลขที่ 194/48-49 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของอาคารเลขที่ 194/47 ซึ่งปลูกอยู่บนโฉนด เลขที่ 6135ได้ปลูกรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ประมาณ 20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8 เมตร ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอน
จำเลยให้การว่า จำเลยรับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาจากนายชูชัย โจทก์รับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาจากนายมนต์ชัยจำเลยปลูกสร้างอาคารโดยสุจริตและครอบครองมาเกินกว่า 10 ปีแล้วโจทก์ไม่อาจบังคับให้รื้อถอนได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382แล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่าตึกแถวโจทก์จำเลยอยู่ติดกัน เดิมที่ดินและตึกแถวของโจทก์จำเลยเป็นของเจ้าของคนเดียวกันฝ่ายโจทก์จำเลยต่างก็เช่าตึกแถวจากเจ้าของเดิมครั้งที่ดินและตึกแถวที่ฝ่ายโจทก์เช่าอยู่นั้นถูกโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนายมนต์ชัย ส่วนที่ฝ่ายจำเลยเช่าถูกโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนายมนต์ชัย ส่วนที่ฝ่ายจำเลยเช่าถูกโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนายชูชัย โจทก์จำเลยก็ย้งคงอยู่ในตึกแถวที่ตนเคยอยู่ต่อไประหว่างที่ดินและตึกแถวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของคนใหม่นั้น จำเลยได้รื้อตึกแถวเก่าของตนแล้วปลูกสร้างขึ้นใหม่แทนที่สิ่งก่อสร้างที่รื้อออกไปภายในเขตแนวเดิม ส่วนฝ่ายโจทก์ได้รื้อครัวที่ปลูกสร้างอยู่ด้านหลังตึกแถวโจทก์และติดกับผนังตึกด้านข้างตึกแถว จำเลยแล้วปลูกสร้างขึ้นใหม่พร้อมกันโดยใช้ผนังด้านหลังของตึกห้องครัวโจทก์กับผนังด้านข้างของตึกแถวจำเลยร่วมกัน และว่าจ้างช่างปลูกสร้างคนเดียวกัน โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินเดิมทักท้วงห้ามปราม ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ว่าบางส่วนของที่ดินที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวนั้นอยู่ในโฉนดที่โจทก์ซื้อแต่จำเลยเจ้าใจในขณะปลูกสร้างว่าที่ดินตรงที่ปลูกสร้างนั้นเป็นที่ดินที่อยู่ในโฉนดเลขที่ 6135 จึงเป็นกรณีที่จำเลยอาศัยสิทธิของเจ้าของที่ดินตามสภาพที่เป็นอยู่ปลูกสร้างตึกแถวในที่ดินโจทก์หรือนายมนต์ชัย เจ้าของเดิมที่จำเลยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิปลูกสร้างได้ และเป็นการปลูกสร้างโดยสุจริตหลังจากที่ดินและตึกแถวนั้นโอนตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จำเลยแล้วโจทก์จำเลยก็ยังครอบครองที่ดินและตึกแถวเป็นส่วนสัดภายในแนวเขตในส่วนที่ตนเคยอยู่แต่ครั้งยังเป็นผู้เช่าตลอดเรื่อยมา พฤติการณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และนายมนต์ชัยยินยอมให้จำเลยปลูกสร้างตึกแถวบนที่ดินตามสภาพที่เป็นอยู่แต่ครั้งยังเป็นของนายมนต์ชัยโดยไม่ได้ทักท้วงห้ามปราม ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้ น่าเชื่อว่าจำเลยได้ใช้สิทธิอำนาจปรปักษ์เข้าครอบครองที่ดินในส่วนที่รุกล้ำที่ดินโจทก์ สืบสิทธิของนายชูชัย เจ้าของเดิม โดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ตั้งแต่จำเลยได้ปลูกสร้างตึกแถวเป็นต้นไปซึ่งนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วจำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโจทก์ในส่วนถูกตึกแถวจำเลยปลูกรุกล้ำโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จำฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนตึกแถวในส่วนรุกล้ำที่ดินโจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.