คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยกับพวกขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายืน ผลแห่งคำพิพากษาก็คือโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่ โจทก์ยังขืนอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งๆ ที่โจทก์แพ้คดีทั้งสามศาล จึงเป็นการอยู่ในที่ดินของผู้อื่นโดยละเมิด หากจะนับเวลาครอบครองปรปักษ์ก็ต้องนับตั้งแต่ศาลฎีกาพิพากษายังไม่ถึง 10 ปี

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสองสำนวน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์และบริวารรื้อถอนบ้านเรือนเลขที่ 58 ออกไปจากที่พิพาทของจำเลยร่วม และห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายให้จำเลยร่วมเดือนละ 200 บาท โจทก์สำนวนแรกและจำเลยสำนวนหลังฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาข้อแรกว่าโจทก์ได้ครอบครองปลูกบ้านเรือนเลขที่ 58 ในที่พิพาทเนื้อที่ 100 ตารางวามาแต่ พ.ศ. 2509 จำเลยและจำเลยร่วมไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้อง จนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2518 จำเลยจึงนำช่างรังวัดเข้าไปในเขตพิพาทซึ่งโจทก์ครอบครอง จำเลยเพียงนำช่างรังวัดเข้าไปปักหลักเสาหินในที่พิพาทเท่านั้นยังไม่ถือเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์ โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยกับพวกฐานบุกรุกจนศาลลงโทษ จำเลยไม่ได้ดำเนินคดีขับไล่โจทก์ออกจากที่พิพาท จึงต้องนับวันที่โจทก์ครอบครองปรปักษ์ถึงวันฟ้องเกินกว่าสิบปีแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว การที่จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินเข้าไปรังวัดปักเขตในที่พิพาท ก็สืบเนื่องจากโจทก์เคยฟ้องจำเลยกับพวกขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 16/2511 คดีหมายเลขแดงที่ 17/2513 ของศาลจังหวัดมีนบุรี คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า โจทก์ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้อง ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2527/2517 คดีระหว่าง จ่าสิบตำรวจผล แสงโพธิ์แก้ว โจทก์ นายอาคม วัณณรถ กับพวก จำเลย (จำเลยในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 4) คำพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมผูกพันโจทก์นับแต่วันที่ได้พิพากษาตลอดมาเพราะคำพิพากษานั้นมิได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างใด ศาลฎีกาพิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2517 ผลแห่งคำพิพากษาก็คือโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 322 ก่อนที่จะแยกเป็นโฉนดเลขที่ 6662 ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่ การที่โจทก์ยังขืนอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้ง ๆ ที่โจทก์แพ้คดีทั้งสามศาลจึงเป็นการอยู่ในที่ดินของผู้อื่นโดยละเมิด หากโจทก์จะอ้างการครอบครองโดยปรปักษ์ใหม่ก็ต้องนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2517 เป็นต้นมาถึงวันฟ้องคดีนี้วันที่ 8 พฤศจิกายน 2512 เป็นเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น โจทก์ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 6662 ของจำเลยร่วม

ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยนำช่างรังวัดเข้าไปปักหลักเขตไม่ถือเป็นการรบกวนการครอบครองอันจะทำให้การนับวันครอบครองปรปักษ์สะดุดหยุดลงเห็นว่า เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีหมายเลขที่ 17/2513 ของศาลชั้นต้น ซึ่งคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2527/2517 ก็ย่อมแสดงว่าที่พิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่ดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นการครอบครองปรปักษ์ของโจทก์หากมีมาก่อนนั้นก็สิ้นสุดไปแล้ว การครอบครองที่พิพาทของโจทก์ต่อมายังไม่ถึงสิบปี โจทก์ไม่มีทางได้กรรมสิทธิ์โดยอ้างการครอบครองปรปักษ์ ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยนำช่างรังวัดให้ไปปักหลักเขตจะเป็นการรบกวนการครอบครอง อันจะทำให้การนับวันครอบครองปรปักษ์ของโจทก์สะดุดหยุดลงหรือไม่”

พิพากษายืน

Share