แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำสั่งศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องแย้ง จำเลยอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคท้าย ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาฟ้องแย้งขอให้โจทก์โอนขายที่ดินต้องเสียค่าขึ้นศาลตามราคาที่ดิน จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ให้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามทุนทรัพย์ ฟังไม่ได้ว่า จำเลยเจตนาไม่ชำระค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งให้ครบถ้วน ศาลให้เวลาชำระค่าธรรมเนียมภายใน 3 วัน นับแต่ฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าที่ดินโฉนดที่ 6555 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ปลูกบ้านอยู่ อาศัย มีกำหนด 10 ปี แต่ไม่ได้จดทะเบียนการเช่า จึงมีผลบังคับเพียง 3 ปี ครบกำหนดแล้วโจทก์บอกกล่าวขอเลิกการเช่าให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างออกไปภายในกำหนด 30 วัน และแจ้งให้จำเลยทราบด้วยว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินของโจทก์ให้แก่นายเทพพงศ์ บุณยานันท์ ในราคา 110,000 บาท หากโจทก์ไม่สามารถดำเนินการขับไล่ให้ผู้เช่าออกไปจากที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อภายใน 45 วัน โจทก์จะต้องถูกปรับเดือนละ 5,000 บาท จำเลยไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวของโจทก์ ยังครอบครองที่ดินที่เช่าอยู่ เป็นการละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจะต้องถูกนายเทพพงศ์ บุณยานันท์ปรับเดือนละ 5,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินรายพิพาทจากโจทก์จริง เดิมที่ดินรายพิพาทมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อลึก โจทก์ให้ผู้จะเช่ารับภาระออกเงินถมและเสียค่าซื้อหน้าที่ดินที่เช่าตอบแทนให้โจทก์อีก 13,000 บาท ก่อนจึงจะให้เช่ามีกำหนด 3 ปี ไม่มีผู้ใดยอมลงทุนเพราะได้เช่าในระยะเวลาอันสั้น โจทก์จึงหลอกลวงจำเลยและผู้อื่นว่าจะขยายระยะเวลาเช่าจาก 3 ปี ออกไปเป็น 10 ปี จำเลยหลงเชื่อชำระค่าซื้อหน้าที่ดินให้โจทก์เป็นเงิน 13,000 บาท และจัดการถมที่ดินอีกประมาณ 15,000 บาทเศษแล้วจึงทำสัญญาเช่าตามฟ้องซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แม้ไม่จดทะเบียนการเช่าก็มีผลบังคับกันได้ 10 ปี โจทก์สมคบกับนายเทพพงศ์ บุณยานันท์ทำหลักฐานสัญญาจะซื้อขายเท็จเพื่ออ้างเหตุเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยโดยทุจริต ตามเงื่อนไขในสัญญาเช่า ถ้าโจทก์จะขายที่ดินที่เช่าต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าเพื่อให้โอกาสจำเลยซื้อก่อน โจทก์ไม่แจ้งให้ทราบ เป็นการผิดสัญญา ทำให้จำเลยเสียหาย เพราะหากโจทก์จะขายที่ดินรายพิพาทให้จำเลยในราคาเดียวกับที่จะขายให้แก่นายเทพพงศ์ บุณยานันท์ คือ 110,000 บาท จำเลยก็ยินดีรับซื้อ และสามารถขายต่อได้กำไรไม่น้อยกว่า 55,000 บาท การที่โจทก์ผิดสัญญา จะขายที่ดินรายพิพาทให้ผู้อื่นโดยไม่บอกกล่าวให้จำเลยทราบดังกล่าว ทำให้จำเลยเสียหายขาดผลประโยชน์ที่คาดหมายว่าควรจะได้รับเป็นเงิน 55,000 บาท ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนการเช่าที่ดินรายพิพาทให้จำเลยมีกำหนด 10 ปี ให้โจทก์ขายที่ดินรายพิพาทให้จำเลยในราคา 110,000 บาท หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ขายได้ ก็ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย55,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง โดยจำเลยเสียค่าขึ้นศาลฟ้องแย้งมาในจำนวนทุนทรัพย์ 55,000 บาท
ในวันที่ 11 มิถุนายน 2522 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่จำเลยฟ้องแย้งจำเลยยื่นคำร้องว่า พนักงานรับฟ้องโต้แย้งว่าจำเลยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งโดยคิดจากทุนทรัพย์ 165,000 บาท จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องค่าธรรมเนียม หากจำเลยจะต้องเสียเพิ่มเติมอีก ก็ขอให้ขยายระยะเวลาเพื่อจำเลยจะได้ตระเตรียมเงินมาเสีย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่าให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งในจำนวนทุนทรัพย์165,000 บาท ให้ครบถ้วนภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2522 แล้ว จึงจะสั่งคำให้การและฟ้องแย้ง
วันที่ 19 มิถุนายน 2522 จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวว่าจำเลยไม่ควรเสียค่าธรรมเนียมเกินกว่าทุนทรัพย์ 110,000 บาท อันเป็นราคาที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ขายที่ดินรายพิพาทให้จำเลย (ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ในวันที่ 26 มิถุนายน 2522)
วันที่ 20 มิถุนายน 2522 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในกำหนด จึงไม่รับฟ้องแย้ง คงรับแต่คำให้การจำเลย ให้นัดชี้สองสถาน (นัดชี้สองสถานวันที่ 20 กรกฎาคม 2522)
วันที่ 12 กรกฎาคม 2522 จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องแย้งว่าเป็นการไม่ชอบ เพราะจำเลยไม่มีเจตนาจงใจขัดขืนคำสั่งที่ให้นำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระ หากแต่จำเลยเห็นว่าคำสั่งของศาลที่ให้จำเลยนำค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งมาชำระในจำนวนทุนทรัพย์ 165,000 บาท นั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งจำเลยก็ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวนี้แล้ว (คืออุทธรณ์ที่จำเลยยื่นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2522) ขอให้กลับคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรอการพิจารณาไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลอุทธรณ์จะพิพากษาชี้ขาดในเรื่องค่าธรรมเนียมฟ้องแย้ง และให้โอกาสจำเลยชำระค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งให้ถูกต้องก่อนจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาชี้ขาดไปตามรูปคดี
วันที่ 13 กรกฎาคม 2522 ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนคำสั่งที่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2522 และมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวเพราะเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1)
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยฉบับลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2522 ว่า เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย คืนค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดค่าทนายความให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยฉบับลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2522 ซึ่งอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในวันที่ 20 มิถุนายน 2522 นั้น เป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง โดยจำเลยอ้างเหตุผลว่าจำเลยไม่มีเจตนาจงใจขัดขืนคำสั่งของศาลที่ให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมฟ้องแย้ง (ค่าขึ้นศาล) มาวางศาลให้ครบถ้วน จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์ว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226(1) ไม่รับวินิจฉัยและให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยเสียนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนี้ไปเลยทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่มีเจตนาจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งในจำนวนทุนทรัพย์ 165,000 บาท เพราะจำเลยได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว จึงเข้าใจโดยสุจริตว่าเมื่ออุทธรณ์แล้ว กำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมก็คงจะหยุดลงชั่วคราวจนกว่าศาลอุทธรณ์จะชี้ขาด จำเลยจึงมิได้นำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระภายในกำหนดจึงขอโอกาสให้จำเลยได้นำเงินค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ถูกต้องมาชำระและรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาต่อไปนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งมาชำระในจำนวนทุนทรัพย์ 165,000 บาท ภายในวันที่ 19 มิถุนายน 2522 นั้น ในวันที่ 19 มิถุนายน 2522 นั้นเอง จำเลยก็ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวตามที่ยกมากล่าวแล้วข้างต้น และศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำสั่งในวันยื่นอุทธรณ์ว่าไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยแต่ประการใด ต่อมารุ่งขึ้นวันที่ 20 มิถุนายน 2522 ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยโดยอ้างเหตุผลว่าจำเลยไม่ชำระค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งให้ครบถ้วนภายในกำหนดที่สั่ง ตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวมานี้ ยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าจำเลยมีเจตนาจงใจขัดขืนไม่ยอมชำระค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งให้ครบถ้วนเพราะจำเลยยังมีข้อโต้แย้งอยู่เกี่ยวกับเรื่องทุนทรัพย์ฟ้องแย้ง ดังที่จำเลยได้อุทธรณ์ไว้แล้ว จึงควรให้โอกาสแก่จำเลยในอันที่จะนำเงินค่าธรรมเนียมที่ยังขาดอยู่มาชำระเสียให้ครบถ้วน ส่วนในเรื่องทุนทรัพย์ฟ้องแย้ง ก็เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลย จำเลยว่าหากโจทก์ขายที่ดินรายพิพาทให้จำเลยในราคา 110,000 บาท จำเลยจะขายต่อได้กำไรไม่น้อยกว่า 55,000 บาท จึงฟังได้ว่าที่ดินรายพิพาทมีราคาไม่น้อยกว่า 165,000 บาท จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ขายที่ดินรายพิพาทให้จำเลย จำเลยจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งตามราคาที่ดินคือในจำนวนทุนทรัพย์ 165,000 บาท
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 20 มิถุนายน 2522 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งที่ขาดอยู่มาชำระให้ครบถ้วนภายใน3 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษาคดี