คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งห้ามชั่วคราวของศาลมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับตึกของจำเลยนั้นเป็นวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาเพื่อคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ของเจ้าหนี้ให้ได้รับผลตามคำพิพากษาโดยบริบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
คำสั่งห้ามชั่วคราวดังกล่าวแล้วมีผลเพียงห้ามจำเลยมิให้ทำนิติกรรมใด ๆเกี่ยวกับตึกของจำเลย การที่ศาลแจ้งคำสั่งให้นายอำเภอทราบก็เพื่อมิให้รับจดทะเบียนนิติกรรมใด ๆ ที่จำเลยจะลักลอบกระทำโดยไม่สุจริต มิได้หมายความว่า เป็นการห้ามยึดหรืออายัดตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือกฎหมายอื่นเสียเลย
ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 นายอำเภอมีอำนาจยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรเพื่อชำระค่าภาษีอากรค้างได้โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องร้อง แม้ศาลจะมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับตึกของจำเลย และแจ้งคำสั่งให้นายอำเภอทราบแล้ว แต่เมื่อจำเลยค้างชำระค่าภาษีอากร นายอำเภอก็มีอำนาจยึดตึกของจำเลยมาขายทอดตลาดชำระค่าภาษีอากรค้างนั้นได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อตึกของจำเลยได้จากการขายทอดตลาดของนายอำเภอและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว การขายทอดตลาดบริบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วนายอำเภอจะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดมิได้ แม้อำเภอจะยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตึกให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องก็อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 เมื่อการขายทอดตลาดตึกได้กระทำก่อนโจทก์จะบังคับคดี โจทก์จะบังคับคดีเอาแก่ตึกดังกล่าวให้เป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ร้องซึ่งอาจบังคับเหนือตึกนั้นหาได้ไม่
ผู้ร้องคนเดียวยื่นคำร้องขัดทรัพย์แยกกันเป็น 2 คดี คดีแรกร้องขัดทรัพย์เฉพาะตึก ส่วนคดีหลังร้องขัดทรัพย์เฉพาะเตียงโต๊ะเก้าอี้และเครื่องที่นอนแม้ศาลจะร่วมพิจารณาพิพากษาและผู้ร้องฎีการวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์แต่ละคดีเป็นเกณฑ์พิจารณาในการใช้สิทธิฎีกา เมื่อคดีหลังเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าพันบาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ย่อมต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกามา ศาลฎีกาก็ไม่วินิจฉัยให้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องจากโจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา นำยึดตึกโรงแรมนฤมิตรและทรัพย์สิ่งของในโรงแรมเพื่อบังคับคดีอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์เป็น 2 สำนวน สำนวนแรกร้องว่า ตึกโรงแรมนฤมิตรเป็นทรัพย์ของผู้ร้อง ซึ่งได้มาจากการขายทอดตลาดของคณะกรรมการขายทอดตลาดอำเภอเมืองลพบุรี และได้ชำระราคาครบถ้วนทั้งได้เข้าครอบครองเป็นเจ้าของแล้วสำนวนหลังร้องว่าทรัพย์สิ่งของในโรงแรม ผู้ร้องซื้อจากจำเลยที่ 1 ไว้ก่อนแล้วมิใช่เป็นของจำเลย ขอให้สั่งถอนการยึด

โจทก์คัดค้านว่า การที่ผู้ร้องซื้อตึกพิพาทไว้จากการขายทอดตลาดของนายอำเภอเมืองลพบุรี เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพราะศาลมีคำสั่งอายัดไว้ก่อนที่นายอำเภอจะยึดมาขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของจะร้องขัดทรัพย์ไม่ได้ ส่วนทรัพย์สิ่งของในโรงแรม ผู้ร้องซื้อโดยไม่สุจริต ไม่มีการซื้อขายกันจริงจัง

ศาลชั้นต้นฟังว่า ผู้ร้องได้ซื้อตึกพิพาทจากเจ้าพนักงานอำเภอเมืองลพบุรีเป็นทางการจริง แต่ทางอำเภอได้ประกาศยกเลิกการขายทอดตลาดแล้ว ตึกพิพาทจึงยังคงเป็นของจำเลยอยู่ มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกาต่อมาทั้งสองสำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์แยกกันเป็น 2 คดีคือ คดีแรกร้องขัดทรัพย์เฉพาะตึกโรงแรมนฤมิตร ราคา 80,000 บาท ส่วนคดีหลังร้องขัดทรัพย์เฉพาะเตียงโต๊ะเก้าอี้และเครื่องนอนที่เก็บรักษาอยู่ในโรงแรมราคา 3,000 บาท แม้ศาลจะรวมพิจารณาพิพากษา และผู้ร้องฎีการวมกันมาก็ตาม ก็ต้องถือว่าคดีหลังเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 5,000 บาท จะเอาทุนทรัพย์ในคดีแรกมารวมด้วยไม่ได้เพราะเป็นคนละคดีและข้อโต้แย้งที่เกี่ยวกับสิทธิของคดีทั้งสองสำนวนนี้ก็ต่างกัน เมื่อคดีหลังมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 5,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกามา ศาลฎีกาก็ไม่วินิจฉัยให้ เพราะฎีกาของผู้ร้องในส่วนที่เกี่ยวกับคดีหลังนี้เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น จึงให้ยกฎีกาของผู้ร้องสำหรับสำนวนคดีหลัง คงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเฉพาะสำนวนแรกเกี่ยวกับตึกโรงแรมนฤมิตร

ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้องพร้อมกับร้องขอให้ยึดหรืออายัดมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งรวมทั้งตึกที่เป็นโรงแรมนฤมิตรที่พิพาทไว้ก่อนมีคำพิพากษาศาลไต่สวนแล้ว สั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์ตามที่โจทก์ขอและได้มีหมายห้ามชั่วคราวมิให้นายอำเภอเมืองลพบุรี และจำเลยที่ 1 กระทำการดังที่ศาลสั่งส่งให้นายอำเภอเมืองลพบุรีและจำเลยที่ 1 ทราบแล้ว ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีโจทก์ ขอให้ศาลออกคำบังคับ และศาลได้ออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยอุทธรณ์ และร้องขอทุเลาการบังคับคดี ศาลอุทธรณ์สั่งว่า ถ้าจำเลยหาประกันมาให้เป็นที่พอใจของศาลชั้นต้นภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควร จึงให้ทุเลาการบังคับคดี มิฉะนั้นให้ยกคำร้อง แต่จำเลยไม่ได้หาประกัน โจทก์จึงร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ศาลออกหมายบังคับคดีวันที่ 30 มิถุนายน2504 และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดตึกโรงแรมนฤมิตรรายพิพาท เมื่อวันที่ 3กรกฎาคม 2504 ครั้นวันที่ 7 เดือนเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีได้มีหนังสือถึงศาลว่า อำเภอได้ทำการยึดและขายทอดตลาดตึกโรงแรมนฤมิตรที่พิพาทไปแล้วแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2504 ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าภาษีเงินได้อยู่ 23,472 บาท หากปรากฏว่า ขายทอดตลาดได้เงิน 80,000 บาท เมื่อหักค่าภาษีแล้ว เงินส่วนที่เหลือได้คืนให้จำเลยที่ 1 ไป

ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์ตามหนังสือดังกล่าว โจทก์แถลงว่า ราคาที่ขายได้80,000 บาท โจทก์พอใจ ขอให้ส่งเงินที่เหลือจากหักค่าภาษีส่งมาศาล แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งเงินที่เหลือซึ่งรับไปคืนกลับมาได้ อำเภอจึงสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้วศาลก็ประกาศขายทอดตลาดใหม่ ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อตึกรายพิพาทจากการขายทอดตลาดของจำเลย จึงมาร้องขัดทรัพย์เป็นคดีนี้

ปัญหาจึงมีว่า ผู้ร้องจะมีสิทธิในตึกโรงแรมนฤมิตรรายพิพาทซึ่งซื้อจากการขายทอดตลาดของจำเลยหรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้แม้ศาลจะได้มีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับตึกพิพาท ซึ่งเป็นวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาก็จริง แต่วิธีการชั่วคราวนี้เป็นแต่วิธีการตามกฎหมายอย่างหนึ่งเพื่อคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ของเจ้าหนี้ให้ได้รับผลตามคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ ซึ่งถ้าชนะคดีแล้วประสงค์จะให้ได้รับผลตามคำพิพากษา ก็ต้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษานั้นอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นคำสั่งห้ามชั่วคราวในคดีนี้จึงมีผลเพียงห้ามจำเลยมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับตึกพิพาทเท่านั้นเอง และการที่ศาลแจ้งคำสั่งให้อำเภอทราบก็เพื่อว่า ถ้าจำเลยที่ไม่สุจริตไปลักลอบกระทำก็จะได้ไม่ทำให้ เป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ มิได้หมายความเป็นการห้ามยึดหรืออายัด ตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หรือกฎหมายอื่นเสียเลยทีเดียว ฉะนั้นการที่นายอำเภอได้ยึดและขายตึกพิพาทไปเพื่อชำระค่าภาษีที่ค้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจไว้โดยไม่จำต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องศาลก่อน จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย จะเพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ได้ การที่อำเภอกลับไปสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดจึงเป็นการไม่ชอบ ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อตึกพิพาทจากการขายทอดตลาดและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว แม้อำเภอจะยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ผู้ร้องก็อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300 และการขายทอดตลาดได้กระทำก่อนโจทก์บังคับคดีและยึดตึกพิพาทผู้ร้องจึงมีสิทธิในตึกพิพาท โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีเอากับตึกพิพาทได้อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287

พิพากษากลับให้ปล่อยการยึดตึกโรงแรมนฤมิตรที่พิพาท

Share